อดีตนายกสมาคม EVAT ฟันธง! ไม่เกิน 5 ปี EV บูมตลาดราคาจับต้องได้

0
193

ท่ามกลางเทรนด์การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีสะอาดสู่การเปลี่ยนผ่านความเป็นสังคมพลังงานสะอาดที่แต่ละประเทศเร่งผลักดันเป็นยุทธศาสตร์ของแต่ละประเทศ รวมถึงประเทศไทยหลังภาครัฐได้กำหนดและตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียนด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และกำหนดเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบปลั๊ก-อิน ไฮบริด และใช้แบตเตอรี่ รวม 1.2 ล้านคันภายในปี 2579 หรืออีก 16 ปีข้างหน้า

ทว่า ด้วยปัญหาอุปสรรคเศรษฐกิจไทย ข้อกำจัดจากแรงหนุนของภาครัฐและความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผนวกกับผลกระทบจากวิกฤติไวรัสโควิด-19 อาจส่งผลกระทบต่อโรดแมปการขับเคลื่อนประเทศไปสู่จุดหมายความเบ่งบานด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้ล่าช้ากว่าแผน หรือไปไม่ถึงฝั่งฝันหรือไม่?อย่างไร?

รศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล หัวหน้าศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน มจธ. และผู้ก่อตั้ง-อดีตนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT)คนแรก สะท้อนมุมมองในประเด็นนี้ว่าเชื่อว่ามีโอกาสอย่างยิ่งที่ไทยจะก้าวไปสู่เป้าหมายดังกล่าวหลังผู้ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งผู้ผลิตรถยนต์เองต่างมีแนวทางการทำตลาดไปในทิศทางดังกล่าว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อ และเชื่อว่าภายใน 5 ปีจากนี้ หากรัฐบาลสนับสนุนอย่างชัดเจนก็มีความเป็นไปได้ว่า จะได้เห็นรถยนต์ไฟฟ้า และปลั๊ก-อิน ไฮบริด มียอดขายมากกว่า 10% หรือ 100,000 คันอย่างแน่นอน

“เราจะเห็นว่าความต้องการเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้าของผู้บริโภคปัจจุบันมีแนวโน้มสูงขึ้นในกลุ่มผู้ใช้รถยนต์รายใหม่ ประกอบกับโครงสร้างราคาของรถพลังงานไฟฟ้ามีแนวโน้มถูกลงรวมทั้งการออกนโยบายสนับสนุนของภาครัฐทุกภาคส่วนต่างให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความก้าวหน้าของรถไฟฟ้าประกอบกับสถานการณ์เปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะทุกภาคส่วนต้องร่วมกันตระหนักถึงปัญหามลพิษที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่

รศ.ดร.ยศพงษ์ เล่าอีกว่าจากการวิจัยพบว่า 50% มาจากการปล่อยควันพิษจากการจราจรติดขัด ซึ่งถือเป็นพันธกิจที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะช่วยผลักดันและกระตุ้นผู้ใช้รถให้คำนึงถึงปัญหาและหาทางแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม คาดว่าภายใน 5 ปีจากนี้ ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอีกหลายประเภท และจะมีราคาใกล้เคียงกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันด้วย

“ส่วนปัญหาเรื่องสถานีชาร์จที่หลายฝ่ายยังคงมีความกังวลนั้น ปัจจุบันจะเห็นว่ามีหน่วยงานเอกชนหลายแห่ง ได้เตรียมลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีความเข้าใจแล้วว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นเทรนด์ของโลกในอนาคตอันใกล้”

ยานยนต์ไฟฟ้าพระเอกขี่ม้าขวาแก้ปัญหามลพิษ

รศ.ดร.ยศพงษ์ บอกด้วยว่าช่วงต้นปี 2558 ตนเองได้มีโอกาสเข้าไปเป็นหนึ่งในที่ปรึกษา คณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียนและอนุรักษ์พลังงานในคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้จัดทำข้อเสนอการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าให้ทางภาครัฐ และเป็นช่วงเวลาที่เริ่มมีนโยบายในการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ

“เราทราบปัญหาประเทศไทยโดยเฉพาะเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีปัญหามลพิษจากการจราจรที่ติดขัด รวมทั้งปัญหาการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นตัวการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศหรือที่รู้จักกันว่าโลกร้อนซึ่งเป็นปัญหาและความท้าทายระดับโลก การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจะช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าว และประเทศไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลก การส่งเสริมให้เกิดการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญ เช่น แบตเตอรี่ภายในประเทศ การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศ พร้อมด้วยการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้สามารถไปแข่งขันในระดับโลกได้ในอนาคต”

รศ.ดร.ยศพงษ์ กล่าวเสริมว่าระหว่างที่ตนดำรงตำแหน่งนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ได้มีส่วนร่วมในการผลักดันและหวังว่าประเทศไทยจะเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของโลก ซึ่งจะช่วยทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศสูงขึ้น นำไปสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และเป็นการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ยั่งยืน ที่มีความต้องการใช้ยานยนต์สมัยใหม่และสามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังเผชิญในระดับโลกได้

ยื่น 8 ข้อเสนอภาครัฐดันยานยนต์ไฟฟ้าเป็นรูปธรรม

ผู้ก่อตั้งและอดีตนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าคนแรก ระบุด้วยว่าระหว่างนี้ทางสมาคมฯยังได้จัดทำ 8 ข้อเสนอการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าต่อภาครัฐในการผลักดันยานยนต์ไฟฟ้าให้เป็นรูปธรรมได้แก่ การจัดทำ EV Roadmap อย่างเป็นรูปธรรม ส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า สนับสนุนให้มีการจัดทำมาตรฐานของยานยนต์ไฟฟ้าเเละชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการออกมาตรการกระตุ้นการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงส่งเสริมศักยภาพ เเละพัฒนาบุคลากรไทย ด้านการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น รวมทั้งได้จัดพิมพ์ข้อเสนอเหล่านี้ลง EVAT Directory 2020 อีกด้วย

“ทางสมาคมฯจะยังคงยึดมั่นเป้าหมายในการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น เพื่อลดปัญหามลพิษอย่างฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ที่ส่งผลต่อสุขภาพประชาชน ตามที่ทราบกันดีนั้น ซึ่งที่ผ่านมาทางสมาคมก็ได้มีการทำงานร่วมกับภาครัฐตามข้อเสนอดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

สำหรับแนวโนมในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในไทยนั้น ดร.รศ.ดร.ยศพงษ์ เปิดเผยว่าถือว่าเพิ่มมากขึ้นจากข้อมูลกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ณ วันที่ 30 มิ.ย.63 พบว่ามีจำนวนยานยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนทั่วประเทศรวมทั้งหมด 171,977 คันแบ่งเป็นยานยนต์ไฟฟ้าเเบบปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) เเละไฮบริด (HEV) 167,676 คัน และยานยนต์เเบบเเบตเตอรี่ (BEV) เป็นยานยนต์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนเพียงอย่างเดียวมี 4,301 คัน

“ขณะที่จำนวนยานยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนใหม่ วันที่ 1 ม.ค.-30 มิ.ย.63 พบว่า มีทั้งหมด 16,290 คัน แบ่งเป็นยานยนต์ไฟฟ้าเเบบปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) เเละไฮบริด (HEV) 13,214 คัน และยานยนต์เเบบเเบตเตอรี่ (BEV) 3,076 คัน เเละมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะประมาณ 583 เเห่งทั่วประเทศ

ยานยนต์ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

ส่วนประเด็นผลกระทบจากวิกฤติโควิดจะเป็นอุปสรรคหรือไม่นั้น รศ.ดร.ยศพงษ์ มองว่าแม้ว่าช่วงนี้จะมีผลกระทบกับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีผลประกอบการตกต่ำ แต่หากมองในภาพใหญ่และในระยะยาวยานยนต์ไฟฟ้าเป็นคำตอบอย่างแน่นอน เราคิดว่าไกลตัวอาจจะเริ่มใกล้ตัวเรามากขึ้น เพราะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนเเปลงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

“ภาคเอกชนที่ปรับเปลี่ยนเเปลงตัวได้ทันเวลา จะทำให้รอดพ้นวิกฤตและเปลี่ยนเป็นโอกาสในการ เปลี่ยนแปลงครั้งนี้ และมองว่าในช่วงปี ค.ศ. 2025-2030 ตลาดของยานยนต์ไฟฟ้าจะมีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 30 %  และแน่นอนในตลาดแห่งการแข่งขัน ผู้ปรับตัวได้ก่อนจะสามารถยืนหยัดอยู่ได้ เเละผู้ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันย่อมอาจจะต้องเป็นผู้สูญเสียตลาดนี้ไป” 

ผู้ก่อตั้งและอดีตนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าคนแรก สรุปปิดท้ายว่าขณะเดียวกันเราก็จะพบผู้เล่นใหม่ในตลาดเช่นกัน อีกทั้งในอนาคตยานยนต์สมัยใหม่จะไม่ได้มีเเค่เรื่องยานยนต์ไฟฟ้า เเต่จะมีเรื่องการขับขี่อัตโนมัติ การเชื่อมต่อสื่อสารกับภายนอก เเละเกิดรูปแบบธุรกิจยานยนต์ใหม่ เช่น การเเบ่งปัน (Mobility Sharing ) เรื่องนี้เป็นแนวโน้มของยานยนต์สมัยใหม่ ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ทั้งหมดแต่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่ต้องพร้อมปรับตัวและก้าวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงนี้