ขว้างงูไม่พ้นคอ?

0
265

เหลือบปเห็นข่าวเล็กๆ ในสื่อเศรษฐกิจตีปี๊บเรื่องที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เตรียมเสนอกระทรวงการคลังปรับปรุงพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 หรือ พ.ร.บ.พีพีพี” โดยอ้างว่ากฎหมายปัจจุบันยังมีข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการดึงเอกชนลงทุน

ดังนั้น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จึงต้องการให้มีการปรับปรุงกฎหมาย เพราะระยะต่อไปรัฐบาลมีแผนลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอีกมากที่จำเป็นต้องเปิดทางให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนเพื่อลดภาระของรัฐในระยะ 5 ปีข้างหน้า ถึง 66 โครงการ วงเงินลงทุนรวมกว่า 1.6 ล้านล้านบาท ซึ่ง 20% ของโครงการลงทุนเหล่านี้ รัฐมีแผนจะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน

หัวใจสำคัญของการแก้ไขครั้งนี้ ผู้อำนวยการ สคร. ระบุว่า จะเพิ่มเรื่องความเสี่ยงการลงทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชนที่เป็นธรรม เพราะกฎหมายปัจจุบันไม่ได้ระบุเรื่องการแบ่งปันความเสี่ยงไว้ จึงเป็นเรื่องที่ 2 ขั้ว คือ รัฐหรือเอกชนต้องแบกรับความเสี่ยงเอง อีกเรื่องที่จะบรรจุในกฎหมายก็คือความรวดเร็ว ความชัดเจนและโปร่งใส โดยเพิ่มกลไกในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลภายหลังที่มีการลงนามสัญญา ส่วนเรื่องความรวดเร็วนั้นจะนำขั้นตอนการลงทุนตามกระบวนการของ “พีพีพีฟาสต์แทรค” เข้ามาเขียนไว้ในกฎหมาย โดยมีคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาดูโดยเฉพาะ

ด้านวงเงินที่เข้าข่ายการร่วมลงทุนนั้น ผู้อำนวยการ สคร. ยอมรับว่า ในกฎหมายปัจจุบันไม่ได้นับวงเงิน แต่ใช้หลักการที่ว่าหากเป็นโครงการลงทุนที่ใช้ทรัพย์สินของรัฐ หรือรัฐให้เอกชนลงทุนถือว่าเข้าข่ายทั้งหมด แต่การปรับปรุงใหม่จะปรับเปลี่ยนให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น เช่นเรื่องการเช่าที่ราชพัสดุหากไม่ได้เช่าไปเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานก็ให้อิงกฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไป แต่หากเป็นการเช่าเพื่อลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐาน หรือบริการสาธารณะจึงจะเข้ามาอยู่ในกฎหมายฉบับนี้

เรื่องของการยกเครื่อง พ.ร.บ.พีพีพี ข้างต้นนั้น ประชาชนคนไทยคงไม่อินังขังขอบอะไรด้วยหรอก แต่คำถามที่ สคร. และคลังต้องตอบสังคม และตอบ “นายกฯ บิ๊กตู่” ด้วย ก็คือที่ผ่านมา สคร. และคลังเองไม่ใช่หรือที่เป็นผู้เสนอให้ “ยกเครื่อง” แก้ไข พ.ร.บ.ร่วมทุน ปี 2535 เดิมด้วยข้ออ้างที่ว่ากฎหมายเดิมมีข้อจำกัดในการดึงเอกชนเข้าร่วมลงทุนก่อให้เกิดการตีกรรเชียงเลี่ยงบาลีหนีกันเป็นพรวน ก่อนจะยกร่างกฎหมายใหม่มาเป็น “พ.ร.บ.พีพีพี ปี 2556” ฉบับนี้

แล้ววันนี้ สคร. และคลัง กลับจะมาบอกว่า กฎหมายที่ตนเอง “ปล้ำผีลุกปลุกผีน่ัง” เป็นผลงาน “ชิ้นโบว์แดง” ที่เที่ยวป่าวประกาศไปทั่วคุ้งก่อนหน้านั้นยังมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถจะดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในกิจการของรัฐได้ จำเป็นต้อง “ยกเครื่องใหม่” อีกกระนั้นหรือ?

ที่ขำไม่ออกยิ่งไปกว่านั้นในขณะที่คลังและ สคร. ตีปี๊บว่า เรามี “พ.ร.บ.พีพีพี” เป็นกฎหมายแม่บทในการดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐที่มีมูลค่านับหมื่นหรือนับแสนล้านนั้น  แต่ สคร. ช่วยแจงประชาชนคนไทยให้กระจ่างได้ไหมว่า ที่ผ่านมามีโครงการใดบ้างที่กระทรวงการคลังยอม “ปล่อยวาง” ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการไปตาม พ.ร.บ.พีพีพี ปี 2556 ที่ว่านั่น

เพราะที่เห็นและเป็นไปนั้นทุกโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่กำลังโม่แป้งจะดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนรับสัมปทานกันไปนั้น ก็ล้วนแล้วแต่เป็นโครงการที่คลังเองหอบ “กระเตงหนี” ขั้นตอนการดำเนินการตาม พ.ร.บ.พีพีพี ที่ว่านี้ไปดำเนินการด้วยวิธีพิเศษผ่าน “คณะกรรมการฟาสต์แทร็ค” (Fast Track) ที่คลังตั้งขึ้นมา เพื่อเร่งรัดขั้นตอนการดำเนินการลงเหลือ 18-24 เดือน จากขั้นตอนปกติที่ต้องใช้เวลาถึง 4 ปี หรือ 48 เดือนขึ้นไป

ล่าสุดนี้ ยังตั้งคณะกรรมการ Super Fast  Track เพื่อร่นระยะเวลาในการดำเนินโครงการพีพีพีในเขตเศรษฐกิจพิเศษระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่จะดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนใน  3 โครงการ คือ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาวงเงินลงทุน 200,000 ล้านบาท โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 2 วงเงินลงทุน 88,131 ล้าน และรถไฟความเร็วสูง “ไฮสปีดเทรน” กรุงเทพฯ-มาบตาพุด-ระยอง วงเงินลงทุน 158,000 ล้านบาท เพื่อร่นระยะเวลาการดำเนินโครงการให้เหลือ 8-10 เดือนอีกด้วย

เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่ากฎหมายพีพีพี 2556 ที่คลังป่าวประกาศว่า จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับเอกชนที่จะเข้ามาลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ของภาครัฐ สร้างความโปร่งใสในการดำเนินโครงการนั้น วันนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าล้มเหลวโดยสิ้นเชิง! และน่าจะเป็นคำตอบที่ดีว่า เหตุใดนโยบายดึงเอกชนเข้ามาลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจตลอดช่วงที่ผ่านมาเหตุใดถึงไปไม่ถึงฝั่ง

สมควรที่ “นายกบิ๊กตู่” จะเชือดข้าราชการหน่วยงานใดสังเวยบ้างหรือไม่???

ส่วนที่ว่าการ“ยกเครื่อง” กฎหมายพีพีพีเพื่อเร่งรัดโครงการเมกะโปรเจ็กต์รัฐ ผ่านคณะกรรมการฟาสต์แทร็ค หรือ “ซูเปอร์ฟาสต์แทร็ค” เป็นไปเพื่อการใดนั้น ขอยกยอดไปว่ากันในตอนต่อไปก็แล้วกัน !!!

บทความโดย…เนตรทิพย์