“สมาร์ตโลจิสติกส์” กุญแจไขความสำเร็จยุค 4.0

0
650

แม้ธุรกิจบริการด้านโลจิสติกส์ไทยจะเป็นหนึ่งเส้นเลือดหลักในการขับเคลื่อนการค้าและการพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้ทะยานเติบโตต่อเนื่อง แต่ทว่าการเปิดเสรีธุรกิจบริการที่มีทั้ง “โอกาสและแรงกดดัน” จากการแข่งขันที่นับวันทวีความดุเดือดสูงขึ้น ผนวกกับโลกการค้าที่เปลี่ยนแปลงไปจากการถูกรุมเร้าด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจการค้าไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจบริการโลจิสติกส์ไทยต้องเร่งประเมินศักยภาพขององค์กรและแสวงหาแนวทางพัฒนาธุรกิจเพื่อสร้างความได้เปรียบ และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ท่ามกลางความความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายของโลกการค้ายุคเทคโนโลยีดิจิทัล ที่เป็นทั้งโอกาสทองฝังเพชรและภัยคุกคาม

 แล้วผู้ประกอบการไทยจะหันหัวเรือองค์กรในทิศทางไหน การวางกลยุทธ์การตลาด หรือจะใช้ระบบสารสนเทศและเทคโนโลยีอย่างไร การปลุกพลังทรัพยากรบุคคลในมิติไหน จึงจะก้าวทันเทรนด์การค้าโลกและนำพาองค์กรพุ่งชนความสำเร็จได้?

โลจิสติกส์4.0 ความท้าทายก้าวสำคัญ

นายนพพร เทพสิทธา ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และคณบดีกิตติคุณ วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยศรีปทุม สะท้อนมุมมองถึงแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงด้านการค้า ว่า โลกกำลังก้าวเข้าสู่ความเป็น Smart World ภาคธุรกิจต้องเผชิญกับคลื่นยักษ์ทางเศรษฐกิจระลอกใหม่ ซึ่งเป็นดิจิทัลสึนามิที่พัดพาทั้งโอกาสและภัยคุกคามมายังผู้ประกอบการไทย

“เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจบริการโลจิสติกส์และการค้าระหว่างประเทศมากขึ้นอีคอมเมิร์ซทำให้การสั่งซื้อเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ส่งผลให้การจัดส่งต้องเปลี่ยนรูปแบบจากช่องทางเดียว (Single-Channel) ไปสู่การประสานทุกช่องทางทั้งออนไลน์และออฟไลน์ (Omni-Channel) ผู้ประกอบการที่อยากจะแข่งขันได้ในโลกการค้ายุคใหม่ ต้องพัฒนาตนเองให้เป็นสมาร์ตโลจิสติกส์ที่สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายการให้บริการแบบครบวงจร”

นอกจากนี้ นายนพพร ยังกล่าวอีกว่าผู้ประกอบการไทยต้องเร่งพัฒนาตัวเองให้เป็นองค์กรสมาร์ตโลจิสติสก์ โดยอาศัย 3 ปัจจัยสนับสนุนหลัก ได้แก่ IoT(Internet of Things) การเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อระหว่างธุรกิจและผู้บริโภค Big Data การรวบรวมข้อมูลเพื่อการพยากรณ์ทางธุรกิจที่แม่นยำ และ AI (Artificial Intelligence) การหล่อหลอมปัญญาจากวิชาการต่างๆ เพื่อสร้างสรรค์เทคโนโลยีหรือเครื่องมือใหม่ๆ ที่สามารถตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว และช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดได้อย่างสมดุลท่ามกลางการแข่งขันทุกรูปแบบในเวลานี้

เทคโนโลยี ปัจจัยเร่งเร้าโลจิสติกส์ยุคอัจฉริยะ

ขณะที่ประเด็นการก้าวทันเทคโนโลยีในยุคการค้าโลกปัจจุบันนั้น นายนพพร ให้ความเห็นว่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการขับเคลื่อนธุรกิจบริการด้านโลจิสติกส์ ซึ่งผู้ประกอบการต้องก้าวทันและใช้มันให้เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างสมดุล

“เทคโนโลยีสามารถตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้ประกอบการสามารถสร้างเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับองค์กรของตนเองได้ เริ่มต้นจากการกำหนดเป้าหมายธุรกิจของตัวเองต้องการเดินไปในทิศทางไหนอย่างไร แล้วค่อยหันหัวเรือกลับมาตรวจสอบศักยภาพและความพร้อมขององค์กร เก็บข้อมูลให้ครบถ้วนทั้งภายในองค์กรและในส่วนของลูกค้า เพื่อนำมาเป็นกรอบในการพัฒนาเทคโนโลยี ที่ใช้เป็นเครื่องมือต่อการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความสำเร็จ เพราะโลกการค้าเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก จึงจำเป็นต้องมีฐานข้อมูลและบุคลากรที่สามารถประยุกต์ใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์ในการสร้างสรรค์เทคโนโลยี ให้เท่าทันความต้องการของลูกค้า”

SWOT ปัจจัยภายใน-นอก ปูทางกำหนดเป้าหมายธุรกิจ

ส่วนประเด็นการกำหนดจุดเริ่มต้นการวางกลยุทธ์ นายนพพร ระบุว่าผู้ประกอบการไทยต้องรู้จักตนเองด้วยการทำ SWOT คือการรู้จักการวิเคราะห์ถึงจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค ตลอดถึงการการเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงปัจจัยภายนอกไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจ เทรนด์ผู้บริโภค และเทคโนโลยี เพื่อใช้เป็นข้อมูลกำหนดกลยุทธ์และเป้าหมายทางธุรกิจ

 “วิสัยทัศน์ที่ถูกกำหนดเพื่อเป็นแนวทางการเดินหน้าขององค์กร อันดับแรกต้องเริ่มจากการมีส่วนร่วมของทุกคนภายในองค์กร ทุกคนควรเห็นในทิศทางเดียวกัน เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่ความสำเร็จขณะที่การบริหารจัดการทรัพยากรบุคลากรอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องให้ความสำคัญกับการคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมกับงาน พร้อมกับการฝึกอบรมและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อให้บุคลากรสามารถปฏิบัติงานและปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานได้หลากหลาย อีกทั้งต้องปลูกความคิดสร้างสรรค์และสนับสนุนการเติบโตในอาชีพ ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพ พร้อมทำงานตอบสนองความต้องการของลูกค้านำไปสู่การสร้างคุณค่าที่ดีให้กับองค์กร”

เมื่อโลกการค้าถูกเร่งเร้าด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ที่พัดพาทั้งโอกาสและภัยคุกคามของสังคมโลก ปัญหาจึงอยู่ที่มนุษย์โลกจะก้าวทันและใช้ประโยชน์จากความทันสมัยของเทคโนโลยีได้อย่างไร  

โจทย์สำคัญของผู้ประกอบการโลจิสติกส์ในยุค 4.0 คงหนีไม่พ้นความฉลาดในการหาแนวทางการลดขั้นตอนการทำงานอย่างไรให้พุ่งเป้าสู่มิติการบริการที่ “สะดวก รวดเร็ว และถูกต้อง” เพื่อเติมเต็มความต้องการลูกค้าให้ได้มากที่สุด

…ซึ่งเป็นแนวทางที่จะทำให้ธุรกิจแข่งขันได้และเติบโตอย่างยั่งยืน!