“ซี.พี. – บีทีเอส” ชิงดำไฮสปีดเทรน

0
196

ไม่มีพลิก! ประมูลรถไฟความเร็วสูงไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน เหลือชิงดำแค่ 2 กลุ่ม “ซี.พี. – บีทีเอส” ต่างฝ่ายต่างเกทับบลั๊ฟแหลกมั่นใจ ซี.พี.โอ่หากคว้าชิ้นปลามันจะให้คนพิการนั่งฟรีตลอดชีพ รถไฟเร่งสปีด หวังปิดดีลก่อนเลือกตั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงค์ มักกะสัน ว่า เมื่อวันที่ 12 พ.ย. ที่ผ่านมา การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เปิดรับเอกสารข้อเสนอโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-ระยอง  มูลค่าลงทุน 224,544 ล้านบาท โดยกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ที่ประกอบด้วยบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS Group บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH และบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ได้เข้ายื่นเอกสารรายแรก ขณะที่ช่วงบ่ายกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง นำโดยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เดินทางเข้ามายื่นข้อเสนอด้วยตนเอง

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน ในฐานะรักษาการผู้ว่าการรถไฟฯ เผยว่า ตามขั้นตอน ภายในกลางเดือน ธ.ค.61 นี้ รฟท. จะต้องได้ข้อสรุปว่าเอกชนรายใดเป็นผู้ชนะ รวมถึงการเจรจาต่อรองราคา หลังจากนั้นจะเสนอให้อัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาก่อนเสนอให้คณะกรรมการนโยบายกำกับและดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณาก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ โดยกระบวนการทั้งหมดคาดว่าจะมีการลงนามในสัญญากับเอกชนผู้ที่ชนะการประมูลได้ภายในวันที่ 31 ม.ค. 62

ด้าน นายศุภชัย เจียรวนนท์  ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ทางบริษัทมีความพร้อมอย่างมากที่เข้ามาร่วมประมูล และร่วมดำเนินการในโครงการนโยบายยุทธศาสตร์ชาติในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โดยบริษัทที่เข้ามาร่วมทุนหลักประกอบด้วยกลุ่มซีพี ถือหุ้นในสัดส่วน 70%, กลุ่มบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ร่วมกับบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)15% , China Railway Construction Corporation Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน) (CRCC) 15%, บริษัท อิตาเลี่ยนไทย 5% ส่วนผู้ลงทุนรายอื่นที่ซื้อซองประกวดราคาด้วยเช่น ปตท. นั้นทางบริษัทก็อยากชักชวนมาก แต่ต้องรอให้ทราบผลการประกวดราคาก่อน

นอกจากนั้น ยังมีผู้ร่วมลงทุนรายอื่นๆ ที่ได้แสดงความประสงค์จะเข้าร่วมลงทุนด้วยทั้ง JBIC (ประเทศญี่ปุ่น) และ China Resources (Holdings) Company Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน), CITIC Group Corporation  (สาธารณรัฐประชาชนจีน) และจากประเทศอิตาลี ส่วนตัวรถไฟฟ้าได้มีจากบริษัท Siemen (ประเทศเยอรมัน) Hyundai (ประเทศเกาหลี) Ferrovie dello Stato Italiane (ประเทศอิตาลี) CRRC-Sifang (สาธารณรัฐประชาชนจีน)

นายศุภชัย กล่าวด้วยว่า บริษัทยังได้มีการยื่นข้อเสนอพิเศษเพิ่มเติมโดยแสดงจุดยืนที่จะสนับสนุนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นควบคู่ไปกับรถไฟความเร็วสูงเพื่อกระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น รวมทั้งยังมีแนวคิดที่จะส่งเสริมการพัฒนาชีวิตคุณภาพชีวิตของคนไทยด้วย โดยหากบริษัทเป็นผู้ชนะการประมูลจะให้สิทธ์ผู้พิการได้ใช้บริการรถไฟความเร็วสูงฟรีตลอดชีพด้วย

ด้าน นายสุระพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริษัท บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า หากไม่มั่นใจบริษัทคงไม่มายื่นซองซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกัน 3 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS Group ถือหุ้น 60% , บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ถือหุ้น 20% และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ถือหุ้น 20% ส่วนระบบรถจะเป็นการร่วมทุนทั้งจากเอเซีย และยุโรป  ส่วนระบบอาณัติสัญญาณนั้นขณะนี้มีการพูดคุยแล้วแต่ยังไม่ได้ตัดสินใจ

“โครงการดังกล่าวหากประสบความสำเร็จ จะเป็นการเชื่อมโครงการสำคัญของประเทศและพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซีให้เกิดความสำเร็จ และสาเหตุที่เข้ามาประมูล เนื่องจากบริษัทมีความตั้งใจที่จะสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริษัทก็มีความพร้อมอย่างมากจากประสบการณ์ในการบริหารรถไฟฟ้ามากว่า 9 ปี แม้จะไม่ใช่รถไฟฟ้าความเร็วสูงก็ตาม”