เผือกร้อน! สัมปทาน Duty free

0
392

ยังคงเป็นประเด็นสุดฮอต เป็น Talk of the Town

กับเรื่องของการเปิดประมูลคัดเลือกเอกชนเข้ารับสิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ ฟรี) 4 สนามบินนานาชาติของ ทอท.(ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่)

 โดยหลังจาก บริษัท ท่าอากาศยานไทย (มหาชน) หรือ ทอท.ออกประกาศเชิญชวนเอกชนเข้ารับสิทธิ์ ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) 4 สนามบิน พร้อมกับประกาศเชิญชวนเรื่องงานให้สิทธิประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ ภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมือวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา

โดยกำหนดให้เข้าบริหารตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2574 หรือ 10 ปี 6 เดือน โดยจะเปิดขายเอกสารประมูลทั้ง 2 โครงการพร้อมกันในวันที่ 19 มีนาคม 2562 ถึงวันที่ 1 เมษายน 2562 เวลา 09.00-12.00 น. และเวลา 13.00-16.00 น.และกำหนดให้ยื่นข้อเสนอการดำเนินงานเพื่อขอรับสิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีในวันที่ 30 เมษายน 2562 เวลา 09.00-11.00 น. และจะประกาศรายชื่อผู้ยื่นข้อเสนอที่มีคุณสมบัติครบถ้วน กำหนดให้เสนอผลงาน (Presentation) ข้อเสนอด้านเทคนิคผู้ยื่นข้อเสนอการดำเนินงานในวันที่ 2 และ 3 พฤษภาคม 2562 และจะเปิดซองเสนอค่าตอบแทนและประกาศผลในวันที่ 10 พฤษภาคม 2562  

สัมปทาน Duty Free แสนล้านดังกล่าวก็ระอุแดดขึ้นมาทันที เมื่อ สมาคมผู้ค้าปลีกไทยจะออกโรงคัดค้านอย่างหนักต่อการเปิดสัมปทานดิวตี้ฟรีแบบรายเดียว( Master concession) และเรียกร้องให้ ทอท.กำหนดเกณฑ์สัมปทานแบบหมวดหมู่สินค้า(Concession by Category) โดยมีการยื่นจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาข้อเสนออย่างรอบคอบ

แต่ฝ่ายบริหาร ทอท.ก็ออกโรงยืนยันการประมูลจัดหาเอกชนเข้ารับสัมปทานร้านปลอดภาษี duty free ภายในสนามบินสุวรรณภูมิ (ทสภ.)และ 3 สนามบิน ในภูมิภาคของทอท.(เชียงใหม่หาดใหญ่และภูเก็ต) จะยังคงดำเนินการไปตามไทม์ไลน์และโมเดลที่บอร์ดได้พิจารณาอนุมัติไว้แล้ว พร้อมยืนยันทอท.จะดำเนินด้วยความรอบคอบ คำนึงถึงผลประโยชน์ของทอท.และประเทศชาติเป็นหลัก

แต่เมื่อ “องค์กรต่อต้าน การคอรัปชั่น( แห่งประเทศไทย “)ออกโรงเรียกร้องให้ รัฐบาลและบริษัทท่าอากาศยานไทยนำโครงการนี้เข้าไปดำเนินการภายใต้ “ข้อตกลงคุณธรรม” แต่กลับได้รับการปฏิเสธเสียงแข็ง

กลายเป็นปมเขื่องที่ทำให้ทุกฝ่ายเต็มไปด้วยข้อกังขาจนถึงกับที่นายกรัฐมนตรีถึงกับสั่งการให้กระทรวงคมนาคมและ ทอท.ชะลอการประมูลออกไปก่อนพร้อมสั่งให้กระทรวงคมนาคมและทอท. ทบทวนเงื่อนไขการประมูลให้เกิดความรอบคอบ ไม่เอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนรายหนึ่งรายใด

แม้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะมีคำส่ังให้กระทรวงคมนาคม และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือทอท.ดำเนินตการทบทวนรูปแบบการประมูลสัมปทานร้านปลอดภาษี(Duty free) จากเดิมที่จะเปิดให้เอกชนรายเดียว “กินรวบ”สัมปทานดิวตี้ ฟรีทั้ง 4 สนามบิน เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนบางราย

แต่ดูเหมือนคำสั่งของนายกฯ และนโยบายของกระทรวงคมนาคมข้างต้นนั้น จะสร้างความอึดอัดไม่พอใจให้กับบิ๊กทอท.อย่างหนัก และแม้นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.จะยอมขยายระยะเวลาขายซองประมูลดิวตี้ฟรี และการประกอบกิจการร้านค้าเชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิออกไป เพื่อที่ทอท.จะได้ใช้เวลาในช่วงนี้ชี้แจงรายละเอียดต่อสาธารณะชนให้กระจ่าง โดยยืนยันว่าจะสามารถดำเนินโครงการต่อได้ในระยะ 1-2  สัปดาห์นี้เพื่อให้การประมูลแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนศกนี้  

แต่ปมเขื่องที่สังคมคาใจและกังขานยั้น ดูเหมือนคน ทอท.จะยังไม่ได้ให้ความกระจ่างแต่อย่างใด

ทอท.เร่ง “ปิดดีล”ก่อน รบ.ใหม่

ทั้งนี้จากการตรวจสอบของ Logistics Time  พบว่า การเปิดประมูลสัมปทานร้านปลอดภาษี(ดิวตี้ ฟรี) ของ ทอท.ในครั้งนี้  มีการวางแผนเร่งรัดดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน  พ. ศ.2562 ที่เพิ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 62 ที่ผ่านมาและมีผลในวันที่11 มีนาคม 2562

โดยในวันเดียวกัน ทอท.ได้ออกประกาศ 2 ฉบับฉบับแรกเป็นประกาศเชิญชวนเอกชนเข้ามารับสิทธิ์ประกอบการร้านปลอดอากร(ดิวตี้ฟรี) ใน 4 สนามบินนานาชาติของทอท.(  สุวรรณภูมิ  เชียงใหม่ หาดใหญ่ และภูเก็ต ) ส่วนอีกฉบับเป็นการออกประกาศเชิญชวนเอกชนเข้ารับสิทธิ์บริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ(ทสภ.) มีกำหนดขายซองทีโออาร์ ในวันที่ 19 มีนาคม- วันที่ 1 เมษายน 2562กำหนดยื่นซองประมูลในวันที่ 30 เมษา และประกาศผลคัดเลือกภายในวันที่ 10 พฤษภาคม 62 ก่อนการจัดตั้งรัฐบาลใหม่

การที่ทอท.อ้างว่าจำเป็นต้องเร่งรัดประมูลโครงการดังกล่าว ทั้งที่สัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีและพื้นที่กิจกรรมในเชิงพาณิชย์จะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2563 หรืออีกกว่า 1ปี6 เดือนนั้น ยังส่อให้เห็นความไม่ชอบมาพากลในการเร่งรัดเปิดประมูลล่วงหน้า  เพราะต่อให้ได้ผู้ชนะประมูลกลุ่มใหม่ เข้ามาดำเนินการ  แต่การเข้าไปตกแต่งพื้นที่ตั้งดิวตี้ ฟรี จะไม่ยุ่งยากและล่าช้าเหมือนในอดีตที่คิงเพาเวอร์ดำเนินการมาก่อน  เพราะ ทอท.มีการกำหนดขอบเขตพื้นที่เอาไว้ชัดเจน อีกทั้งหากผู้รับสัมปทานรายใหม่ยังสามารถเจรจาเทคโอเวอร์อุปกรณ์จากผู้รับสัมปทานรายเดิมได้ด้วยอีก แม้ระยะเวลาแค่ 6 เดืทอนก็สามารถดำเนินการได้ทัน จึงไม่จำเป็นจะต้องเร่งรัดประมูลแต่อย่างใด”

“มัดตราสังส์ดีกว่าแยกประมูล?

กับข้อเรียกร้องของสมาคมผู้ค้าปลีกไทยที่ออกโรงเรียกร้องให้ ทอท.แยกประมูลดิวตี้ฟรีตามกลุ่มผลิตภัณฑ์ Concession by Category ซึ่งหลายฝ่ายรวมทั้ง ทอท.มองว่ายุ่งยากและทำให้ควบคุมได้ยาก โดยทอท.มองว่าธุรกิจดิอวตี้ฟรีนั้นแตกต่างจากค้าปลีกโดยทั่วไปที่มีประตูอยู่ที่ตั้งเดิม ขณะที่ประตูเทียบเครื่องบินระยะประชิดนั้น แต่ละประตูสามารถเชื่อมเพื่อรองรับเครื่องบินแตกต่างกันไป  หากมีการแยกสัญญาจะทำให้ผู้ประกอบการบางรายมีปัญหา เมื่อปริมาณและการหมุนเวียนของผู้โดยสารมีการเปลี่ยนแปลง ก่อให้เกิดความได้เปรียบ เสียเปรียบตามมาอีก

ส่วนการให้สิทธิประกอบการ 4 สนามบิน รวมอยู่ในสัญญาเดียวนั้น ฝ่ายบริหารทอท.ให้เหตุผลได้อย่างน่าฟังว่า เพราะปัจจุบันสนามบินบางแห่งมียอดขายน้อยอาทิ สนามบินเชียงใหม่ และหาดใหญ่ ที่ประสบปัญหาขาดทุน แต่ที่ยังสามารถประกอบกิจการได่เพราะมีการถัวเฉลี่ยจากกำไรที่สนามบินสุวรรณภูมิที่เป็นแหล่งรายได้หลักของดิวตี้ฟรีถึง 82%  ทอท.จึงเห็นว่าการรวมทั้ง 4 สนามบินจะยังประโยชน์ต่อ ทอท.มากกว่าและจูงใจให้เอกชนเข้ามาแข่งขัน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ ทอท.ไม่ได้ให้ความกระจ่างต่อสังคมก็คือ การมัดตราสังพื้นที่ดิวตี้ฟรีทั้ง 4 สนามบินเข้ามาอยู่ในสัญญาเดียว ที่รวมพื้นที่ร่วม 20,000 ตร.เมตรนั้น ย่อมเป็นการปิดกั้นบริษัทเอกชนโดยทั่วไปไปโดยปริยาย เพราะเอกชนที่จะมีศักยภาพเข้าประมูลขอรับสิทธิ์ประกอบการาดิวตี้ฟรีขนาด 20,000 ตร.เมตร ท ต้องใช้เงินลงทุนสูงมากกว่า 5,000 -10,000 ล้านบาทนั้นแทบจะไม่มีใครแล้วในเมืองไทย

ส่วนเหตุผลของการแยกประกอบการรายสนามบิน ที่ทอท.อ้างว่าไม่จูงใจเอกชนเข้าประมูลเพราะบางสนามบินขาดทุนนั้น แหล่งข่าวใน ทอท.เปิดเผย Logistics Time ว่า ทอท.คงลืมไปว่า ในเงื่อนไขประกอบการครั้งนี้ ทอท.ได้ตั้งเงื่อนไขเอกชนจะต้องเสนอผลตอบแทนแก่ ทอท.มากกว่าหรือเทียบเท่ากับที่คิงเพาเวอร์เสนอไว้แต่เดิม  และยังกำหนดเงื่อนไขให้ต้องมี Minimum guarantee  เอาไว้ด้วย จึงไม่เข้าใจว่าหากแยกประมูลแต่ละสนามบินที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเล็กอื่น ๆ เข้ามาประมูลได้แล้วจะเสียหายแก่ ทอท.ตรงไหน เพราะเอกชนที่จะเข้ามาย่อมต้องรู้เงื่อนไขที่ ทอท.วางไว้อยู่แล้วหากขายไม่ได้อย่างไรก็ต้องจ่ายผลตอบแทนขั้นต่ำตามทีโออาร์อยู่แล้ว

“แต่การรวมพื้นที่  Duty free 4 สนามบินเป็นสัญญาเดียวต่างหากที่เป็นการปิดกั้นไม่ให้เอกชนรายกลางและย่อยโดยทั่วไปมีโอกาสเข้าร่วมประมูล เพราะแค่เจอด่านแรกค่าซื้อซองเอกสารก็ปาเข้าไปตั้ง 2.5 ล้านบาทเข้าไปแล้ว ยังไม่รู้จะเจอเงื่อนไขหินอะไรหมกเม็ดเอาไว้อีก หากมีการตั้งเงื่อนไข เอกชนที่จะเข้าประมูลได้ จะต้องผ่านการบริหารกิจการร้านปลอดภาษีในระดับปีละ 5,000 หรือ 10,000 ล้านบาทขึ้นไป ในประเทศก็คงจะเหลือผู้เข้าประมูลแค่ 1-2 รายเท่านั้น”

คลัง(จงใจ)แก้กม.พีพีพีเข้าทาง?

การที่ ทอท.เร่งรัดดำเนินการเปิดประมูลให้เอกชนเข้ารับสิทธิ์ประกอบการดิวตี้ฟรีข้างต้น ด้วยเล็งเห็นแล้วว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่เข้าข่ายกิจการที่ต้องดำเนินการตาม พรบ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เพราะแม้ในสาระของกฎหมายฉบับนี้จะกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการร่วมลงทุนที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวเอาไว้อย่างเข้มงวดตามมาตรา 7 (1)-(12) ซึ่งก็รวมไปถึงท่าอากาศยานและการขนส่งทางอากาศ  โดยให้รวมถึงกิจการที่เกี่ยวเนื่องที่จำเป็นเพื่อให้รัฐบรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจการดังกล่าวด้วย

แต่กฎหมายดังกล่าวก็มุ่งเน้นจะต้องเป็นโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะเป็นหลัก โดยมีข้อยกเว้นโครงการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ หรือกิจการในเชิงพาณิชย์ ที่แม้จะเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สิน และที่ดินบางส่วนของรัฐแต่ก็ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเข้ามาอยู่ในกฎหมายฉบับนี้

จึงทำให้การประมูลจัดหาเอกชนเข้ารับสิทธิ์ประกอบกิจการดิวตี้ฟรี และรับสิทธิ์บริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินของ ทอท.นั้นไม่เข้าข่าย เพราะถือเป็นการประมูลกิจการในเชิงพาณิชย์ที่เป็น Non-Aeronautical Revenue ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการบิน

 “ต้องถือว่ารัฐบาลและกระทรวงการคลังเองตั้งใจหรือจงใจแก้ไขกฎหมายพีพีพีดังกล่าว เพื่อเปิดทางให้หน่วยงานเจ้าของโครงการมีช่องเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนในการเข้ามาฮุบกิจการของรัฐเอง เพราะหากตีความว่าเป็นโครงการพัฒนาที่ดินหรือกิจการเชิงพาณิชย์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับบริการโครงสร้างพื้นฐานหรือบริการสาธารณะ  หน่วยงานเจ้าของสัมปทานสามารถดำเนินการไปได้เองโดยไม่ต้องดำเนินการตาม พรบ.พีพีพีใหม่นี้”

จึงไม่น่าแปลกใจที่  นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลังในฐานะประธานบอร์ด AOT จะออกมาประกาศเดินหน้าโครงการนี้ โดยยืนยันจะดำเนินการไปตาม “ไทม์ไลน์” ที่วางไว้ พร้อมยืนยัน ทั้งสองโครงการไม่เข้าข่ายโครงการที่ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562(พรบ.พีพีพีใหม่) ที่เพิ่งประกาศใช้

โดยปลัดกระทรวงการคลังยืนยันว่า การนำพื้นที่หรือทรัพย์สินบางส่วนของ ทอท. ออกมาให้เอกชนประมูลนั้น ไม่เข้าข่ายที่จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข พ.ร.บ.ร่วมลงทุนปี 2562 แต่อย่างใด เนื่องจาก พ.ร.บ.ร่วมทุนฯดังกล่าว จะบังคับเกี่ยวกับการลงทุนในกิจการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น อาทิ การก่อสร้างรถไฟ การสร้างเขื่อน การสร้างถนน การสร้างทางด่วน เป็นต้น

 “แม้สนามบินจะถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ หากไม่มีดิวตี้ฟรี ก็ไม่กระทบต่อการให้บริการของสนามบิน เครื่องบินยังบินขึ้นลงได้ตามปกติ เพราะฉะนั้น ก็ไม่เข้าข่ายเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพราะไม่ได้กระทบต่อการบริการของสนามบิน มีหรือไม่มีดิวตี้ฟรี สนามบินก็ให้บริการได้”

เช่นเดียวกับ นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ยืนยันว่า ก่อนที่จะเปิดประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้ามาดำเนินการในร้านค้าปลอดอากร ใน 4 สนามบิน และ ร้านค้าเชิงพาณิชย์ ในสนามบินสุวรรณภูมิ นั้น ทอท.ได้ศึกษาอย่างรอบด้านแล้ว ซึ่งทั้ง 2 โครงการ ไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมลงทุนปี2562 และได้ดำเนินการตามมติ ครม. ที่ต้องตั้งคณะกรรมการกลางอย่างครบถ้วนแล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้นายกฯและรมว.คมนาคม จะยืนยันให้ ทอท.ได้ทบทวนแนวทางในการประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรี 4 สนามบินข้างต้น แต่ก็เชื่อว่าด้วยสายสัมพันธ์อันลึกซึ้งของผู้ที่อยู่เบื้องหลังโครงการนี้  คงจะล็อบบี้เพื่อให้พรรคการเมืองที่กำลังดิ้นสุดขั้วในการกลับเข้ามามีอำนาจได้สั่งเดินหน้าโครงการต่อไปในที่สุด