รฟท.เจ้าภาพผู้ว่ารถไฟอาเซียน ครั้งที่ 41

0
96

รฟท. เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้ว่าการรถไฟอาเซียน ครั้งที่ 41 แลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์และแนวทางการยกระดับรถไฟในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นโอกาสดีที่การรถไฟแห่งประเทศไทยได้มีโอกาสต้อนรับคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่การรถไฟทั้ง 8 ประเทศ โดยเฉพาะประเทศฟิลิปปินส์ ที่ให้เกียรติเข้าร่วมงานเป็นปีแรก โดยในการประชุมครั้งนี้ จะแบ่งการหารือเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มผู้บริหารการรถไฟ กลุ่มคณะทำงานด้านการตลาดและปฏิบัติการ กลุ่มคณะทำงานด้านเทคนิค โดยข้อมูลเชิงลึกที่ได้รับจากการแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์จากสมาชิกรถไฟอาเซียนในครั้งนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพการรถไฟในภูมิภาคอาเซียนให้เทียบเท่าสากล และยังเป็นที่จับตามองของกลุ่มอุตสาหกรรมการรถไฟต่างๆ ได้เข้ามาร่วมพัฒนาไปด้วยกัน

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดตัว Website ของการรถไฟอาเซียน (ASEAN Railways Portal) ซึ่งเป็น Website ที่รวบรวมข้อมูลข่าวสารด้านการรถไฟของประเทศสมาชิก 7 ประเทศ คือ กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย เมียนมา ไทย และเวียดนาม เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางราง

ที่ผ่านมา ประเทศไทย โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม ได้ให้ความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรางกับประเทศต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น การลงนามความตกลงการเดินรถไฟร่วมกันระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา พร้อมเปิดสถานีรถไฟด่านพรมแดนบ้านคลองลึก และส่งมอบรถดีเซลรางให้ประเทศกัมพูชา เพื่อให้ประชาชนไทยและกัมพูชา สามารถเดินทางข้ามพรมแดนได้อย่างสะดวก เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและการค้าชายแดนด้วย

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับ สปป. ลาว โดยการเปิดขบวนรถไฟขนส่งสินค้าผ่านแดนไปยังไทย – ลาว และยังมีโครงการรถไฟไทย-จีน ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปี 2564 ส่วนประเทศมาเลเซีย การรถไฟฯ ก็ได้มีการหารือเบื้องต้นเกี่ยวกับรถไฟสายสุไหงโกลก – ปาซีร์มัส โดยจะฟื้นฟูรถไฟสายนี้เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและการค้าชายแดนทางภาคใต้ของประเทศไทยอีกด้วย

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของวงการรถไฟอาเซียน ที่เกิดจากความร่วมมือของทุกประเทศ เพื่อผลักดันโครงสร้างพื้นฐานทางรางให้มีศักยภาพ และสามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างไร้รอยต่อ ฟื้นฟูเศรษฐกิจและการค้าชายแดน ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งในประเทศและภูมิภาคอาเซียน