ปลุกผีฟื้นขสมก.วาดวิมาน?ล้างหนี้แสนล้านพลิกมีกำไรใน 7 ปี

0
262

ยังเป็นที่จับตาของสังคมตลอดหลังองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)รัฐวิสาหกิจที่สะกดคำว่า “กำไร”ไม่เจอตลอดระยะเวลา 41 ปีของการเปิดวงล้อระบบขนส่งมวลชนให้บริการแก่ประชาชนคนกรุง เห็นมีแต่ถลุงรัฐละลายไปกับสายน้ำในแต่ละปี ปัจจุบันแบกหนี้สะสมจนไหล่ทรุดอยู่ 1.3 แสนล้านบาท ที่เข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการให้พลิกฟื้นกลับมาทิศทางที่สดใสกว่าเดิมท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมส่อล้มละลายเจริญรอยตามสายการบินไทยหรือไม่?อย่างไร?

กับแผนฟื้นฟูขสมก.ฉบับปรุงใหม่ล่าสุดหลังมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดจากแผนฟื้นฟูเดิมที่ ครม.เคยมีมติเห็นชอบไปเมื่อ 25 มิ.ย. 2562 ที่ผ่านด่านการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และจ่อเสนอให้ครม.พิจารณาภายในเดือน ต.ค.ที่จะถึงนี้

โดยไส้ในแผนฟื้นฟูล่าสุดนี้น่าจับตาเป็นอย่างยิ่งทั้งประเด็นร้อนรัฐจะกดปุ่มล้างหนี้ 1.3 แสนล้าน ฉีกตำราเดินรถแบบเดิมทิ้งเปลี่ยนใหม่จ้างเอกชนวิ่งตามระยะทาง 2,511 คันลดเสี่ยงขาดทุน ดึงรถร่วม 54 เส้นทางด้วยรถไฟฟ้า/NGVอีก 1,500 คัน จ่าย 30 บาท/วันขึ้นได้ทุกสาย ขอเงินอุดหนุนเออร์รี่-ค่าบริการเชิงสังคม (PSO) จำนวน 7 ปีกว่า 1.4 หมื่นล้าน

ทั้งหมดทั้งมวลเพื่อปูทางให้ขสมก.พลิกจากขุมนรกกลับชาติมาเกิดมีผลกำไรได้ภายใน 7 ปี!

กับแผนฟิ้นฟูอันอู่ฟู่บวกกับความฝันสวยหรูที่จะได้เห็นเส้นทางเดิน(ใหม่)ของขสมก.จะบอกว่ายากก็ยากจะว่าง่ายก็ง่าย ทว่า ในสายตาสังคมแยกเป็น 2  มุมมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยท่ามกลางข้อกังขา 7 ปีขสมก.จะพลิกจากขุมได้จริงหรือไม่?แม้รัฐจะอุ้มหนี้ 1.3 แสนล้านให้ก็ตามที รอยต่อ 7 ปีแน่ใจหรือไม่ว่าจะสามารถจ้างเอกชนที่มีศักยภาพได้ตามมาตรฐาน อีกทั้งการได้มาซึ่งรถเช่าทั้ง EV/NGV ไม่นับรวมการบริหารจัดการภายในขสมก.เองที่ถูกตราหน้า “ไร้ศักยภาพ” ถึงวันนั้นขสมก.อาจจะจมหนักไปกว่าเดิมหรือไม่?อย่างไร?

“เสี่ยหนู” ย้ำพักหนี้ 1.3 แสนล้านต้องมีเงื่อนไข

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณารายละเอียดแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)เปิดเผยแผนฟื้นฟู ขสมก.ฉบับปรับปรุงหลังผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการฯแล้วและให้นำเสนอบอร์ด ขสมก.ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.)ภายในเดือนตุลาคมนี้

สาระสำคัญคือกระทรวงการคลังในฐานะเจ้าหนี้ของ ขสมก.จะพักหนี้สะสมของ ขสมก.ที่มีอยู่ประมาณ 1.3 แสนล้านบาท โดยมีเงื่อนไขขสมก.ต้องสามารถฟื้นฟูกิจการและกลับมาทำกำไรได้ภายใน 7 ปี โดยการดำเนินการในรูปแบบนี้เนื่องจาก ขสมก.ถือเป็นรัฐวิสาหกิจ 100% ไม่ได้มีเอกชนเข้ามาถือหุ้น ดังนั้นจึงเป็นภาระของรัฐบาลในการเข้ามาดูแลแก้ปัญหาตรงนี้ และเจ้าหนี้ของ ขสมก.ก็คือกระทรวงการคลัง เพราะกระทรวงการคลังเป็นผู้ที่ค้ำประกันหนี้ให้กับ ขสมก.100%

นายอนุทิน กล่าวอีกว่าแผนนี้กำหนดให้กระทรวงการคลังพักหนี้ให้กับ ขสมก.เป็นระยะเวลา 7 ปีเพื่อให้ดำเนินการฟื้นฟูกิจการให้สำเร็จแล้วกลับมาจ่ายหนี้ได้ แผนนี้จะทำให้ ขสมก.สามารถกลับมาทำกำไรได้ในระยะยาว นอกจากนี้จะยังสามารถใช้เงื่อนไขในแผนนี้ในการประเมินประสิทธิภาพในการดำเนินงานของ ขสมก.เพราะที่ผ่านมามักอ้างว่ามีภาระหนี้มากทำให้องค์กรไม่สามารถดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพได้ ซึ่งจะมีการประเมินผลการทำงานและวัดผลการทำงานของผู้บริหาร ขสมก.เป็นระยะ

 “การพักหนี้ให้กับ ขสมก.ตรงนี้ผมถือว่าเป็นการรีเซ็ตมากกว่า เป็นการหยุดเลือดที่ไหล เพื่อทำให้ ขสมก.หายใจได้เพราะหยุดดอกเบี้ยที่เดินอยู่ แล้วหนี้ที่มีอยู่ก็หาทางในการจัดการ เช่น การทยอยผ่อน ยกหนี้ไปทำให้เป็นระยะยาวอะไรก็แล้วแต่อยู่ในแผนซึ่งมีการทำมาเสนอ”

นายอนุทิน ย้ำว่าการทำงานของ ขสมก.เป็นการให้บริการประชาชนและดูแลประชาชนเป็นหลัก ที่ผ่านมา ขสมก.มีปัญหาสะสมมากว่า 41 ปี การแก้ปัญหานั้นหากใช้ปัญหาแบบเดิมก็คงนำไปสู่การแก้ปัญหาไม่ได้จึงต้องมีการวางแผนใหม่ทั้งหมดทั้งการพักหนี้ การปรับเส้นทางการเดินรถ และการซื้อรถใหม่ที่จะช่วยให้ ขสมก.ทำกำไรได้ในระยะยาว

“ศักดิ์สยาม” มั่นใจภายใน 7 ปีมีกำไร

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่าเนื่องจากขสมก.ขาดทุนสะสมมานาน โดยล่าสุดเมื่อปี 2563 ขาดทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูมากกว่าปล่อยให้ล้มละลาย เพื่อให้กิจการสามารถดำเนินการต่อไปได้เบื้องต้นแนวทางการฟื้นฟูองค์การ ขสมก. โดยกระทรวงการคลังจะรับภาระหนี้และดอกเบี้ยโดยแยกบัญชีออกจาก ขสมก.

“รูปแบบการเดินรถ ขสมก.จะปรับโดยจ้างเอกชนวิ่งตามระยะทาง มีโครงข่ายหลักจำนวน 162 เส้นทาง อัตราค่าโดยสารแบบเหมาไม่จำกัดเที่ยวและเส้นทาง 30 บาทต่อวัน จากการศึกษาพบว่าปัจจุบัน ผู้ใช้บริการกว่าร้อยละ 95 มีการเดินทางไกลและต้องจ่ายค่าโดยสารสูงกว่า 30 บาท ขณะที่เส้นทางของรถเอกชนร่วมบริการ จำนวน 54 เส้นทางนั้นเอกชนจะเข้าสู่ระบบเดียวกัน รับจ้าง ขสมก.วิ่งตามระยะทาง เก็บค่าโดยสาร 30 บาท หลังจากนี้จะนำเสนอข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสภาพัฒน์ กระทรวงการคลังพิจารณาประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ คาดว่าไม่เกินเดือนตุลาคมนี้ และจะทยอยรับมอบรถใหม่ ตั้งแต่ปี 2564 และครบทั้ง 2,511 คัน ในปี 2565”

รมว.คมนาคม ย้ำว่าขสมก.ได้ชี้แจงประเด็นคำถามกระทรวงการคลัง 7 ข้อ เพื่อความมั่นใจในการดำเนินการแผนฟื้นฟูให้สำเร็จ ซึ่งคลังต้องการข้อมูล การดำเนินการของ ขสมก.แต่ละปี เพื่อจะใช้เป็นตัวชี้วัด หรือ KPI และประเมินผลว่า ขสมก.สามารถทำได้จริงตามแผนที่เสนอไว้ โดยกระทรวงคมนาคมและ ขสมก. มีความมั่นใจว่า หากดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวภายในระยะเวลา 7 ปี ผลการดำเนินงานของ ขสมก.จะมีกำไรก่อนหักค่าเสื่อมราคา หรือ Ebitda เป็นบวกประมาณ 50 ล้านบาท

อธิการบดีสจล.เห็นด้วยแผนฟื้นฟูขสมก.

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) เปิดเผยผมเห็นด้วยกับแผนฟื้นฟูขสมก. ฉบับปรับปรุงที่พิจารณาไม่กู้เงินเพิ่มเพื่อซื้อรถใหม่แต่ใช้วิธีการจ้างเอกชนวิ่งเป็นกิโลเมตร รวมถึงการกำหนดให้ค่าโดยสารมีอัตราเพียง 30 บาท ไม่จำกัดเที่ยวไม่จำกัดระยะทางต่อวัน ซึ่งช่วยลดภาระค่าโดยสารให้กับประชาชนได้หลายล้านคน

ปัจจุบันค่าใช้จ่ายค่าโดยสารเฉลี่ยตามอัตราค่าโดยสารรถใหม่อยู่ที่ 40-50 บาท ต่อวันต่อคน ในส่วนของรถที่จะนำมาให้บริการ ขอเป็นรถใหม่ที่มีความปลอดภัย และจะต้องเป็นรถไฟฟ้า EV หรือ NGV ที่ได้มาตรฐาน สะอาด ปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการบริการดีมีคุณภาพ นอกจากนี้ควรนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการเส้นทางเดินรถ เช่น ที่ป้ายรถประจำทาง ควรมีระบบแจ้งข้อมูลให้ผู้โดยสารทราบว่ารถเมล์จะมาถึงเวลาเท่าไหร่ ซึ่งต้องเป็นการแจ้งเวลาที่แม่นยำ และตรงต่อเวลาด้วย ซึ่งในปัจจุบันเริ่มเห็นบ้างแล้ว แต่อยากให้มีครบและครอบคลุมทั่วทั้งกทม.”

ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวต่อว่าการจ้างเอกชนมาร่วมเดินรถให้บริการและจ่ายค่าเช่าตามกิโลเมตรที่ให้บริการจริงนั้น หากทำได้ น่าจะเป็นวิธีที่ช่วยลดต้นทุนให้กับ ขสมก.ได้มาก ทำให้ไม่ต้องไปกู้งบประมาณเพิ่มในการซื้อรถ สร้างภาระหนี้และดอกเบี้ยมากขึ้นจากการซื้อรถ โดยมุ่งเน้นที่การดูแลควบคุมคุณภาพในการให้บริการของเอกชนที่เป็นคู่สัญญา เชื่อมั่นว่าการจ้างเอกชนเป็นวิธีการที่ถูกต้อง และดีกว่าการซื้อรถ

“อยากฝากให้ขสมก. คัดสรรผู้ประกอบการเอกชนที่มีศักยภาพที่ดีที่สุด โดยกำหนดเงื่อนไข การให้บริการและสเปครถให้สูงๆ เข้าไว้ ซึ่งเอกชนที่ชนะการประมูล ต้องมีหน้าที่จัดหาสิ่งที่ดีที่สุด ทั้งตัวรถ และพนักงานที่จะมาให้บริการ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นการรักษาภาพลักษณ์ของบริษัทผู้ประกอบการ และ ขสมก. หากไม่ได้คุณภาพตามที่ ขสมก. กำหนด ก็ต้องปรับเอกชนให้หนัก รวมถึงมีการวางหลักประกันสัญญาจำนวนสูงมากๆ”

ขาดทุนยับเดือนละ 360 ล้าน

ทราบกันดีว่าขสมก.ที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อให้บริการระบบขนส่งมวลชนพื้นฐานให้กับประชาชนโดยไม่แสวงหาผลกำไรตั้งแต่ต้น แต่ละปีก็จะขอเงินอุดหนุนจากภาครัฐทุกปีเพื่มเสริมสภาพคล่อง อีกทั้งการบริการจัดการภายในองค์กรที่ถูกสังคมมองว่าขาดประสิทธิภาพ จึงไม่น่าแปลกว่าขสมก.จะสะกดคำว่า“กำไร”ไม่เจอตลอด 41 ปีที่ผ่านมา

เส้นทางความล้มเหลวของขสมก.ก่อนเข้าสู่แผนฟื้นฟู ปัญหาที่ถูกหมักหมมมาตลอดทั้งสภาพรถเก่าและชำรุดใช้งานมากว่า 20 ปี มีปัญหาค่าเหมาซ่อมสูง ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรที่สูง ทำให้มีผลประกอบการขาดทุนสะสมตั้งแต่ปี 2519 และถึงวันที่ 31 มี.ค. 2562 มีหนี้สินรวม 123,824.9 ล้านบาท หรือขาดทุนประมาณ 360 ล้านบาทต่อเดือน (ดอกเบี้ยจ่าย 233 ล้านบาท) โดยแบ่งเป็นหนี้จากการออกพันธบัตร จำนวน 64,339.1 ล้านบาท และหนี้เงินกู้ อีก 63,446.9 ล้านบาท ซึ่งจะมีกำหนดครบชำระทยอยแต่ละปีตามแผนฟื้นฟูนี้ ขสมก. เป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งกระทรวงการคลังจะเข้ามาดูแลรับภาระหนี้

แผนฟื้นฟูใหม่ ขสมก. มีการปรับปรุงเส้นทางเดินรถจาก 269 เส้นทางเป็น 162 เส้นทาง (ขสมก.108 เส้นทาง รถร่วมเอกชน 54 เส้นทาง) เพื่อไม่ให้ทับซ้อน โดย ขสมก.จะจัดหารถ EV 2,511 คัน ในรูปแบบการจ้างวิ่งจ่ายค่าเช่าตามระยะทาง เอกชนต้องรับภาระค่าเชื้อเพลิง ค่าซ่อมบำรุงทั้งหมด โดยเลือกรายที่เสนอค่าจ้างวิ่งต่ำสุด ซึ่งจากการศึกษาของทีดีอาร์ไอ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจร.)

“การเดินรถเฉลี่ยจะอยู่ที่ 240 กม./คัน /วัน ดังนั้นต้นทุนหลังจากนี้จะอยู่ที่ราคาประมูลของเอกชนเท่าไร นำมาคูณกับจำนวนรถที่เช่า ซึ่งคาดว่าจะมีต้นทุนค่าจ้างวิ่งประมาณ 4,000 ล้านบาท/ปี ขณะที่ปัจจุบัน ขสมก.มีต้นทุนการบริการกว่า 50 บาท/กม. จึงเป็นที่คาดหวังว่าเอกชนต้องเสนอราคาที่ต่ำกว่านี้แน่นอน”

ค่าตั๋ว 30 บาท/วัน เป็นไปได้หรือไม่?

ส่วนรถร่วมเอกชนมี 54 เส้นทางนั้นจะเป็นรถ NGV จำนวน 1,500 คัน ซึ่ง ขสมก.จะจ้างให้เอกชนมาร่วมเดินรถโดยจ่ายค่าเช่าวิ่งตามกิโลเมตร เพื่อให้โครงสร้างค่าโดยสารเหมือน ขสมก. ที่ 30 บาท/วัน ไม่จำกัดเที่ยว หากไม่จ้างเอกชนวิ่งประชาชนก็จะต้องจ่ายค่าโดยสารเส้นทางของรถร่วมเอกชน ที่ 15-20-25 บาท

 “ แผนฟื้นฟูใหม่ล่าสุดจะช่วยลดค่าครองชีพประชาชนจากแค่ 30 บาท/วัน นั่งไม่จำกัดเที่ยวและเส้นทาง ผู้สูงอายุจ่าย 15 บาท (ลด 50%) บัตรรายเที่ยว 15 บาท บัตรรายเดือน (นักเรียน นักศึกษา 630 บาท/เดือน 21 บาท/วัน) บุคคลทั่วไป 720 บาท/เดือน 24 บาท/วัน ซึ่งก่อนเกิดโควิด-19 มีผู้ใช้บริการรถเมล์ประมาณ 2 ล้านคน/วัน หากอนาคตมีปริมาณผู้โดยสารเพิ่ม จะเพิ่มจำนวนรถที่เช่าจ้างวิ่งรถได้ง่าย”

ปัญหาที่น่าคิดด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในอนาคตจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน เมื่อรถไฟฟ้าสายต่างๆเริ่มก่อสร้างเสร็จและเปิดให้บริการที่ครอบคลุมมากกว่าเดิม ผู้ใช้บริการรถเมล์จะลดลงจากเดิมหรือไม่?เมื่อประเมินแล้วจะมีเอกชนสักกี่รายกล้าประมูลราคาที่ต่ำสุดเพื่อชนะเดินรถ ขณะที่โจทย์ใหญ่ต้องรับภาระ“ค่าเชื้อเพลิง-ค่าซ่อมบำรุง”เองทั้งหมด

ปรับลดคนก่อนเปลี่ยนผ่านตามแผนฟื้นฟู

อีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ที่เป็นปัญหาและอุปสรรคฉุดให้ขสมก.ขาดทุนยับทุกปี ก็คือค่าใช้จ่ายให้กับบุคลากรภายในองค์กรที่สูงมาก บุคลากรมีมากเกินความจำเป็นขณะที่มีรายได้เข้ามาค่อนข้างต่ำ เป้าหมายแผนฟื้นฟูล่าสุดจะทำให้ ขสมก.มีผลดำเนินงาน EBITDA เป็นบวกในปี 2572 หรือไม่ขาดทุนอีกต่อไป โดยจะมีการปรับลดพนักงานต่อรถ 1 คนจาก 4.65 คน เหลือ 2.75 คน

 สิ่งที่ท้าทายจากนี้ไปตามแผนฟื้นฟูนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงบุคลากรภายในขสมก.สู่การเปลี่ยนผ่านก่อนเอกชนที่นำรถมารับจ้างวิ่งทั้งหมดนั้น โดยจะมีการเกษียณอายุก่อนกำหนดจำนวน 5,301 คน ใช้เงิน 4,560 ล้านบาท โดยจะไม่มีการรับพนักงานเพิ่มแทนผู้เกษียณ ซึ่งพบว่าคนขับรถที่เป็นพนักงาน ขสมก. จะเกษียณหมดในปี 2603 หลังนั้นคนขับรถทั้งหมดจะเป็นของเอกชนที่นำรถมารับจ้างวิ่ง

บนเส้นทางปลายฝันกับการฟื้นฟูกิจการองค์กรที่ตลอด 41 ปีสะกดคำว่ากำรี้กำไรไม่เจอ สู่การเปลี่ยนผ่านมิติการบริการใหม่ทั้งยวงแล้วพลิกนรกกลับมาในดินแดนสวรรค์มีผลกำไรได้ภายใน 7 ปี จะสะดวกโยธินหรืองานหินยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา หรือจะเป็นการปลุกผีขสมก.ให้ลุกขึ้นมาหลอนรัฐ-ประชาชนซ้ำซาก

…ปูเสื่อรอ!