“หักดิบ-ปลดล็อค”.. ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม!

0
231

จับตาคำสั่งศาลปกครองสูงสุดวันนี้ จะหักดิบทุนการเมืองตามคำสั่งศาลปกครองกลาง หรือเจริญรอยตามเส้นทางประมูลสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินที่ไฟเขียวให้เอกชนสมใจอยาก..

หรือเปิดทางหน่วยงานรัฐแก้ไขทีโออาร์ได้ตามสะดวกหรือไม่?

ยังคงลุ้นระทึก และวิ่งกันให้พล่าน! กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ระยะทาง 35.9 กม.วงเงินลงทุนกว่า 1.42 แสนล้าน ที่ล่าสุดมีรายงานว่าในวันนี้ (17 พ.ย. 63) ศาลปกครองสูงสุดได้นัดไต่สวนสำนวนอุทธรณ์ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ที่ขอให้ศาลปกครองสูงสุดเพิกถอนคำสั่งคุ้มครองและทุเลาการบังคับหลักเกณฑ์ตามที่คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ได้ปรับเปลี่ยนไปจากเอกสารประกวดราคา  

โดยมีรายงานว่า ฝ่ายบริหาร รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ต่างมั่นใจว่า ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งคุ้มครองและทุเลาของศาลปกครองกลางอย่างแน่นอน  

โดย รฟม.ได้หยิบยกเหตุผลที่ต้องอุทธรณ์ขอให้ศาลปกครองสูงสุดเพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวฯดังกล่าว โดยระบุว่ากระบวนการประกวดราคาได้เริ่มไปแล้ว โดย รฟม.กำลังดำเนินการพิจารณาซองคุณสมบัติผู้เข้าประมูลอยู่ มีกำหนดแล้วเสร็จในวันที่ 23 พ.ย.นี้  จึงจำเป็นต้องได้รับความชัดเจนจากศาล  

ขณะที่วงการรับเหมาได้แสดงความกังวลว่า หากศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งคุ้มครองและทุเลาการบังคับตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ปรับเปลี่ยน ก็เท่ากับศาลปกครองสูงสุดใช้เวลาพิจารณาเรื่องใหญ่ขนาดนี้ โดยใช้เวลาเพียงสัปดาห์เท่านั้น

ทั้งที่ผ่านมาในการพิจารณาคดีอื่นๆ นั้น ศาลปกครองสูงสุดใช้เวลาพิจารณาเป็นแรมเดือน และคงจะทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการใช้ดุลยพินิจที่ผิดปกติ และมีวาระซ่อนเร้นของศาลตามมาอย่างแน่นอน  

“ที่สำคัญ หากศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งคุ้มครองและทุเลาการบังคับตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการคัดเลือกฯปรับเปลี่ยนในภายหลังได้ ย่อมเป็นการส่งสัญญาณการสร้างบรรทัดฐานที่ว่า ต่อไปนี้หน่วยงานภาครัฐสามารถจะปรับเปลี่ยนเกณฑ์การประมูลอย่างไร เมื่อไหร่ก็ได้ตามอำเภอใจ”

อย่างไรก็ตาม หากแม้ในที่สุดศาลปกครองสูงสุดยังไม่มีคำสั่งใดๆ ลงมา แว่วว่า “รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ก็เตรียมทางหนีทีไล่ในอันที่จะล้มประมูลเพื่อเปิดประมูลใหม่ในต้นปีหน้า” โดยคราวนี้จะประกาศใช้เกณฑ์การคัดเลือกใหม่ ที่ได้ดำเนินการไว้แล้วนี้มาใช้โดยตรง เพื่อจะได้ไม่ถูกร้องเรียนว่าปรับเปลี่ยนเกณฑ์ใหม่อีก

แหล่งข่าวในวงการรับเหมาได้ตั้งข้อสังเกตถึงความพยายามของ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ในการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดในครั้งนี้ว่า น่าจะมาจากเห็นความสำเร็จของบริษัทเอกชนที่เคยยื่นอุทธรณ์กรณีถูกคณะกรรมการคัดเลือกฯ ตามมาตรา 36 ตัดสิทธิ์ในการเข้าประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก ซึ่งแม้ศาลชั้นต้นจะเห็นพ้องกับคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกในการตัดสิทธิ์บริษัทเอกชน แต่ศาลปกครองสูงสุดก็มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และให้คณะกรรมการต้องรับซองข้อเสนอของบริษัทในที่สุด

แต่สิ่งหนึ่งที่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ มองข้ามไปก็คือกรณีการท่าเรือฯ (กทท.) นั้น เป็นเพราะบริษัทเอกชนลงนามในเอกสารประมูลที่ผิดไปจากเงื่อนไขที่กำหนด จึงถูกตัดสิทธิ์ไม่ผ่านข้อเสนอ แต่เอกชนได้ร้องขอความปราณีจากศาลให้ได้สิทธิ์ร่วมประมูล เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ภาครัฐ แต่กรณีประมูลรถไฟฟ้า สายสีส้ม ของ รฟม.นั้น เป็นเรื่องที่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯตามมาตรา 36 มีมติให้ปรับรื้อเกณฑ์ประมูลที่ออกไปแล้ว โดยไม่สามารถอรรถาธิบายได้ว่า ทำไปเพื่ออะไร เพราะข้อมูลที่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯชี้แจงต่อศาล ก็ล้วน “ย้อนแย้ง” ตัวเอง และแทนจะเป็นการเพิ่มทางเลือกก็กลับเป็นการล็อคสเปคเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนบางรายอย่างชัดแจ้ง  

ปูเสื่อรอคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่จะออกมา จะสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้สะท้านปฐพี หรือกอบกู้ชื่อเสียงและศรัทธาแห่งกระบวนการยุติธรรมกลับคืนมา

เพราะนัยว่า ตัวองค์คณะตุลาการในสำนวนคดีอุทธรณ์ที่ว่านี้ เป็นชุดเดียวกับคดีสนามบินอู่ตะเภาเสียด้วย!