ขณะที่รัฐบาล  กระทรวงคมนาคม เร่งเครื่องเดินหน้าทุ่มงบฯกว่า 3 หมื่นล้าน ผลักดันโครงการสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 เต็บสูบ   แต่ ทอท.กำลังงานงอก   เมื่อยึดคืนฟรีโซน- คลังสินค้า สุวรรณภูมิจาก UAS มาบริหารเอง  อ้างเหตุ UAS กระทำผิดไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้าง  แต่ UAS ตอบโต้ด้วยการยื่นเรื่องร้องแรกแหกกระเชอไปยังนายกรัฐมนตรี และคมนาคมทำเอาฟรีโซนร้อนระอุแดด..

กิจการร่วมค้า ยูนิเวอร์แซล เอวีเอชั่น เซอร์วิสเซส (กิจการร่วมค้า ยูเอเอส) ได้ UAS  ซึ่งเป็นผู้รับจ้างบริหารและจัดการด้านการขนส่งสินค้าภายในเขตปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือฟรีโซน ซึ่งเป็นผู้บริหารจัดการจัดเขตฟรีโซนทอท. ตั้งแต่ปี 2553 – 2563 ตามสัญญาจ้าง 10 ปี   แต่ถูก ทอท.ยึดคืนโดยอ้างเหตุผลยกเลิกสัญญาจ้าง มีผลทันทีเมื่อวันที่ 25 พ.ย.2559

ทอท. อ้างเหตุผลเลิกจ้างว่า   UAS ไม่ปฎิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาจ้าง ไม่ให้ความความร่วมมือกับ ทอท. จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานหลายด้าน ทั้งการให้บริการ รายได้และค่าใช้จ่าย   อีกทั้ง UAS ปฏิบัติผิดสัญญาหลายข้อ ถือเป็นความผิดของ UAS  จนเป็นเหตุให้กระบวนการทำงานไม่เป็นไปอย่างมีประสิทธิ จนเกิดผลกระทบต่อกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศของประเทศ  ที่ผ่านมา ทอท.ได้มีหนังสือแจ้ง UAS แก้ไขการปฏิบัติผิดสัญญาหลายครั้ง แต่ปรากฏว่า UAS ไม่ยอมแก้ปัญหาส่งผลให้ทอท. ต้องแจ้งบอกเลิกสัญญาจ้าง ส่วนประเด็นข้อพิพาททั้งหมดคงเป็นเรื่องที่แต่ละฝ่ายต้องนำหลักฐานแสดงต่อศาลต่อไป
ด้าน UAS ผู้รับจ้างบริหารฟรีโซน  ก่อนหน้านี้ถูกเลิกจ้างได้ยื่นเรื่องร้องเรียนนายกรัฐมนตรีให้ช่วยแก้ปัญหา ทอท.ติดค้างเงินสะสมมาเป็นระยะเวลา 3 ปี รวม 167 ล้านบาท  เพราะคาดว่าอีกไม่นานไม่มีเงินเดือนจ่ายพนักงาน แต่หลังจากถูกยกเลิกสัญญาจ้างบริหารฟรีโซนได้ร้องเรียนต่อกระทรวงคมนาคมแก้ปัญหาที่เกิด โดยกล่าวหา ทอท.เลิกจ้างไม่เป็นธรรม ทอท.มีวาระซ่อนเร้น หลังมีนโยบายปรับฟรีโซนเป็น Airport Logistics Park 

ปมเหตุความขัดแย้งที่เกิดในครั้งนี้ไม่ใช่เป็นครั้งแรก    หากแต่ในอดีต ทอท.เคยยึดคืนการบริหารจัดการฟรีโซนจากบริษัทเอกชนรายหนึ่ง  ซึ่งทาง ทอท.ได้ตกลงสัญญาว่าจ้างบริหารฟรีโซนเป็นระยะเวลา 10 ปี    ก่อนที่จะตกลงทำสัญญาจ้าง UAS บริหารจัดการฟรีโซน  โดยให้เหตุผลเลิกสัญญาจ้างลักษณะคล้ายๆกัน คือ “ ไม่ปฏิบัติไปสัญญาจ้าง ”  มองเหตุการณ์ความขัดแย้งครั้งนี้เท่ากับเกิดเหตุการณ์“ประวัติศาสตร์ซ้ำสอง”

พลิกภูมิหลังฟรีโซน สุวรรณภูมิ             

LOGISTICS TIME  ย้อนรอยภูมิหลังพื้นที่ฟรีโซน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตั้งอยู่บนพื้นที่รวม 413 ไร่ หรือประมาณ 6 แสนตารางเมตร   เปิดให้บริการพร้อมๆกับการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนกันยายน 2549    ส่วนฟรีโซนหรือเขตปลอดอากร ทอท.ได้ตกลงทำสัญญาว่าจ้างบริษัทไทย แอร์พอร์ตส์ กราวด์ เซอร์วิสเซส จำกัด หรือ “แท็กส์”  บริหารพื้นที่เขตปลอดอากรและคลังสินค้า เป็นรายแรก    เนื่องจากเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ด้านบริหารสินค้านำเข้า ส่งออก มาก่อนหน้านี้     ทอท.ตกลงว่าจ้างทำสัญญาให้บริษัท แท็กส์ ให้เป็นผู้บริหารพืนที่เขตฟรีโซน และศูนย์โลจิสติกส์  รวมถึงพื้นที่อาคารจอดรถในสนามบินสุวรรณภุมิ 6 แสนตารางเมตร เป็นเวลานาน 10 ปี  ( ปี2549 – 2559)

จนกระทั่ง ปี 2553 บอร์ด ทอท. ในขณะนั้นมีมติบอกเลิกสัญญาจ้าง บริษัท แท็กส์  ซึ่งทำหน้าบริหารและจัดการฟรีโซน   ทอท.ให้เหตุผลว่า  เป็นเพราะแท็กส์มีปัญหาสภาพคล่องการเงิน ค้างเงินจ่ายพนักงาน  และหวั่นส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการฟรีโซน  ทอท.มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้  สรุปคือ “ไม่เป็นไปตามสัญญาจ้าง”

หลังจากนั้นปี 53 ปีเดียวกัน  ทอท.ได้ทำสัญญาว่าจ้าง UAS หรือ กิจการร่วมค้า ยูนิเวอร์แซล เอวิเอชั่น เซอร์วิสเซส เข้าบริหารจัดการฟรีโซนและคลังสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ UAS  ซึ่งประกอบด้วยบริษัท เจ็มมินาย ทรานสปอร์ต แอนด์  คอมมูมิเคชั่น จำกัด บริษัท แอร์ไลน์ เอเยนซี่ จำกัด   ตามสัญญาจ้างลงวันที่ 9 ตุลาคม 2553  มีกำหนดระยะ 10 ปี (ปี 2553 – 2563 )  สัญญาจ้าง 10 ปี เช่นเดียวกับแท็กส์ แต่สุดท้าย ไปไม่ถึงดวงดาว

รูปแบบการบริหารจัดการฟรีโซนและคลังสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ต่อไป  นายศิโรฒน์  ดวงรัตน์  ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กล่าวว่า  ทอท.ได้จัดเจ้าหน้าที่เข้ามาปฏิบัติงานแทนโดยทันที และ เพื่อให้การดำเนินงานและบริการสาธารณะต่างๆไม่สะดุดหยุดลง และเป็นไปด้วยความเรียบร้อยต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ต่อกิจการนำเข้าและส่งออกสินค้า ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

รวมทั้ง การกำกับดุแลผู้ประกอบการต่างๆ ภายในเขตฟรีโซน  และพื้นที่สนับสนุนเขตฟรีโซน ซึ่งการที่ ทอท.เข้าบริหารจัดการเขตฟรีโซน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในครั้งนี้จะเกิดประโยชน์แต่ทุกฝ่าย    โดยเฉพาะในส่วนของพนักงานและลูกจ้างเดิมของ UAS หากสมัตรใจปฏิบัติงานต่อไป ทอท.ยินดีพิจารณารับสมัครไว้เป็นลูกจ้างหรือพนักงานจัดจ้าง ของ ทอท.

“ เขตฟรีโซนจะเข้าบริหารงานและดูแลมิให้การดำเนินงานได้รับผลกระทบ อีกทั้งทอท.สามารถเข้าไปดูแลซ่อมแซมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ชำรุดทรุดโทรมมานานให้กลับมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงขอให้ทุกฝ่ายมั่นใจและให้ความร่วมมือกับ ทอท.ในการบริหารจัดการเขตฟรีโซน”

เสียงสะท้อนผู้ใช้บริการฟรีโซน               

อย่างไรก็ตาม กว่า 10 ปี  ทอท.เปิดบริการเขตฟรีโซนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ถึงวันนี้   ผลงานการดำเนินการสามารถตอบโจทย์ธุรกิจด้านขนส่งสินค้าทางอากาศ หรือธุรกิจโลจิสติกส์ มาก –น้อยแค่ไหนอย่างไร…

การให้บริการเขตฟรีโซนปัจจุบันยังมีอุปสรรคเกี่ยวกับกฎระเบียบต่างๆไม่เอื้อประโยชน์ต่อการทำกิจกรรมเชิงพาณิชย์  การคิดอัตราค่าเช่าพื้นที่ทำธุรกรรมเชิงพาณิชย์ ปัจจุบันค่าเช่าพื้นที่อยู่ที่ตารางเมตรละ 400 บาท   สมาคมขนส่งสินค้าทางอากาศ (TAFA) มองว่า  ค่าเช่าพื้นที่เก็บสินค้าในการเพิ่มมูลค่าสินค้าถือว่าสูง  จากปัญหาทั้งหมดทำให้ช่วงเปิดให้บริการในปี 2549  มีผู้จองพื้นที่ในเขตปลอดอากรเต็มจำนวน    แต่ต่อมาเหลือเพียงไม่ถึง 50%  และผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายภาษีโรงเรือน การจ่ายค่าบริการต่างๆในเขตปลอดอากร  และระบบการบริการที่ยังไม่สามารถพัฒนาการใช้งานในแบบ  One Stop Service ได้

 นายโกวิท ธัญญรัตตกุล  นายกสมาคมตัวแทนขนส่งสินค้าทางอากาศไทย (TAFA) กล่าวว่า     การใช้เขตปลอดอากรเป็นประโยชน์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า  ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการลดภาระของผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ อยากให้เขตปลอดอากรเหมือนกับห้างสรรพสินค้า เพื่อให้มีคนเห็นประโยชน์และเข้ามาใช้บริการมาก ๆ ก็ช่วยให้เป็นที่สนใจของนานาประเทศ พวกเราต้องร่วมกันหาจุดอ่อนและเสนอแนวทางที่แก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการร่วมกัน

สมาคม TAFA  ขอฝากถึงบริษัท ทอท. พิจารณาทบทวนเรื่องราคาค่าเช่าให้มีความเหมาะสมต่อธุรกรรมของตัวแทนขนส่งสินค้าทางอากาศ    เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศให้สามารถแข่งขันกับตลาดในปัจจุบันได้   หากคลังสินค้าว่าง 70% จะทำอย่างไรให้เต็ม   แค่พื้นที่ว่าง 20% ก็เสียหายและเสียดาย ซึ่ง TAFA  พร้อมจะดึงสมาชิกเข้ามาใช้บริการ แม้ 12 เดือนแรกขาดทุนก็ไม่เป็นไร    “ TAFA พยายามผลักดันให้บริษัทเอกชนที่เข้ามารับดำเนินงานจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เจ้าของพื้นที่ ลดราคา 1-2 ปีให้อยู่ได้ แล้วค่อยปรับราคา เหมือนประเทศเพื่อนบ้านมาเลเซีย สิงคโปร์ ค่อนข้างเต็ม”

สอดคล้องกับ  ดร.ธนิต  โสรัตน์ ประธานกรรมการบริษัท  V- SEVER Group  จำกัด กล่าวว่า  ปัจจุบันเขตปลอดอากรยังไม่มีการใช้ประโยชน์   การใช้พื้นที่ทำธุรกรรมยังไม่เต็มศักยภาพหรือไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์    เพราะไม่ได้นำสินค้าเข้ามาเพื่อผลิตจำหน่ายสินค้าส่งออกไปต่างประเทศ หรือแทบจะไม่เพิ่มมูลค่าใดๆเกิดขึ้น  เนื่องจากค่าเช่าพื้นที่แพงไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งเขตปลอดอากร   การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานต้องให้ดีเพียงพอกับความต้องการ

                  “การส่งเสริมการทำธุรกรรมเชิงพาณิชย์เพื่อนำไปสู่ Value add   ผู้ให้บริการต้องคิดค่าเช่าไม่แพงมากนัก    เพราะเมื่อธุรกิจเกิด Value add  ประโยชน์ที่ได้มากกว่าค่าเช่า  แต่ขณะนี้พื้นที่ส่วนใหญ่ยังว่างมาก เพราะค่าเช่าแพงมาก ผู้ประกอบการรับไม่ไหว   ที่ผ่านมา  ทอท.เปิดให้บริษัทเอกชนบริหารจัดการ  เกิดปัญหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับพื้นที่จอดรถ  การรักษาความปลอดภัย  รายได้ไม่เข้ารัฐ  ”

เขตฟรีโซนเริ่มใช้ตามกฎหมายกรมศุลกากรตั้งแต่ปี 2549 พร้อมๆกับการเปิดใช้ท่าอากาศยานสุวรรณูมิ   เพื่อต้องการเป็น Hub ด้านขนส่งสินค้าทางอากาศ    เช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์   การทำธุรกรรมเชิงพาณิชย์ภายในเขตปลอดอากรท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีเงื่อนไข หากนำอุปกรณ์ วัตถุต่างๆ เข้ามาผลิตแล้วจะได้รับการยกเว้นอากร  แต่ถ้าหากทำการส่งออก(รีเอ็กซ์ปอร์ต)ก็จะไม่ได้รับเสียอากรเช่นกัน  รวมถึง การนำสินค้าเข้ามาขายในประเทศจะต้องเสียภาษี   ซึ่งการใช้สิทธิพิเศษเขตปลอดอากรเป็นผลประโยชน์กับสินค้าทุกประเภทดีกว่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)

                กว่า 10 ปีของเขตฟรีโซน สนามบินสุวรรณภูมิ   การใช้ประโยชน์ที่มีผลทางเศรษฐกิจ แต่กลับไม่เป็นตามวัตถุประสงค์ของการออกแบบฟรีโซนแต่แรก    ทั้งๆที่เป็นหัวใจสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ  อนาคตข้างหน้า ทอท.จะเปิดประมูลให้บริษัทใดเข้าบริหารฟรีโซนอย่าให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำสอง .