BPP เพิ่มกำลังผลิตตามกลยุทธ์กลุ่มบ้านปู เปลี่ยนผ่านสู่การผลิตพลังงานเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม-ชาญฉลาด

0
82

BPP เผยผลงานเปลี่ยนผ่านสู่การผลิตพลังงานเป็นมิตรสิ่งแวดล้อมด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและชาญฉลาดยิ่งขึ้น ชูความสำเร็จเปิดดำเนินเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) โรงไฟฟ้านาโกโซ (Nakoso IGCC) ประเทศญี่ปุ่น ตามด้วยการลงทุนโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ในสหรัฐฯ สะท้อนมูลค่าพลังร่วมและระบบนิเวศทางธุรกิจภายในกลุ่มบ้านปู ย้ำผลดำเนินงานครึ่งปีแรก 2564 ยังเติบโตแข็งแกร่งมีกำไรก่อนหัก EBITDA 2,399 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 2,160 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เตรียมพร้อม COD โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่ม3 แห่งภายในปี 2564  มุ่งขยายกำลังผลิตไฟฟ้าต่อเนื่องให้บรรลุเป้าหมาย 5,300 เมกะวัตต์ภายในปี 2568

นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “BPP ยังคงสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในครึ่งปีแรกของ 2564 รับรู้กำไรสุทธิ 2,160 ล้านบาท พร้อมทั้งสามารถรักษาเสถียรภาพในการผลิตและจ่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าทุกแห่ง โดยในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา โรงไฟฟ้า เอชพีซีใน สปป.ลาว และโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีในไทย ที่มีค่าความพร้อมจ่าย (Equivalent Availability Factor: EAF) สูงที่อัตราร้อยละ 92 และร้อยละ 87 ตามลําดับ นอกจากนี้  บริษัทฯ กำลังเดินหน้าขยายกำลังผลิตอย่างต่อเนื่องไปพร้อมกับสร้างการเปลี่ยนผ่านสู่การผลิตพลังงานตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่สอดคล้องกับทิศทางการลงทุนในโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (High Efficiency, Low Emissions: HELE) ดังจะเห็นได้จากความสำเร็จในการเข้าลงทุนโรงไฟฟ้านาโกโซ (Nakoso) ในญี่ปุ่น ซึ่ง COD เมื่อเดือนเมษายน โดยเป็นโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป และนับเป็นโรงไฟฟ้า IGCC แห่งแรกที่ได้รับการพัฒนาเป็นโรงไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุด ต่อมาในเดือนมิถุนายน เรายังลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เบอริล (Beryl) และมานิลดรา (Manildra) ในออสเตรเลีย ซึ่งเพิ่มกำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนอีก 17 เมกะวัตต์ อีกทั้งยังเป็นโอกาสให้เราได้เข้าไปศึกษาระบบการซื้อ-ขายไฟฟ้าในตลาดประเทศออสเตรเลียต่อไป และล่าสุดคือการเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I กำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 384 เมกะวัตต์ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ทั้งหมดนี้ตอบโจทย์การขยายเมกะวัตต์ที่มีคุณภาพในประเทศที่กลุ่มบ้านปูมีฐานธุรกิจอยู่แล้ว ตามแผนกลยุทธ์การต่อยอดมูลค่าทางธุรกิจจาก Ecosystem ภายในกลุ่มบ้านปู ที่ BPP ตั้งไว้”

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ “Temple I” เป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยี Combined Cycle Gas Turbines หรือ CCGT ให้การผลิตไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงขึ้นและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยตั้งอยู่ในรัฐเท็กซัสซึ่งมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงและเป็นโรงไฟฟ้าที่จัดอยู่ในลำดับการเรียกจ่ายไฟฟ้า (Merit Order)  ที่ดี เหมาะกับสภาพการแข่งขันในตลาด Electric Reliability Council of Texas หรือ ERCOT ที่มีการซื้อขายไฟฟ้าแบบเสรี ปัจจุบัน โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I เป็นโรงไฟฟ้าที่มีการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว พร้อมสร้างกระแสเงินสดได้ทันที โดยคาดว่าการลงทุนในครั้งนี้จะดำเนินการแล้วเสร็จตามเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องในสัญญา และสามารถรับรู้รายได้ภายในไตรมาส 4/2564

ในครึ่งปีหลังของปี 2564 โรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง (SLG) ในจีน กำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 396 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ในช่วงทดสอบการเดินเครื่องเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ คาดว่าจะสามารถเดินเครื่องได้ในช่วงไตรมาส 3/2564 ด้านโรงไฟฟ้าพลังงานลมเอลวินหมุยยิน (El Wind Mui Dinh) ในเวียดนาม กำลังผลิต 38 เมกะวัตต์ ที่ BPP เข้าลงทุนก่อนหน้านี้จะรับรู้รายได้ในไตรมาส 3/2564 เช่นกัน ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและคาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในปีนี้มีจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมหวินเจา (Vinh Chau) ระยะที่ 1 ในเวียดนาม กำลังผลิต 30 เมกะวัตต์ คาดว่าจะ COD ได้ในช่วงไตรมาส 3/2564 รวมไปถึงโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น 2 โครงการ ได้แก่ เคเซนนุมะ (Kesennuma) กำลังผลิต 20 เมกะวัตต์ และชิราคาวะ (Shirakawa) กำลังผลิต 10 เมกะวัตต์ คาดว่าจะ COD ในไตรมาส 4/2564

“ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 BPP ยังคงดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนกลยุทธ์ พร้อมบริหารทั้งทีมงานและธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าของเราทุกแห่งให้สามารถเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงแสวงหาโอกาสขยายการเติบโตของกำลังผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่สมดุลระหว่างพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปและพลังงานหมุนเวียนในประเทศที่มีศักยภาพ โดยจะประเมินและพิจารณาอย่างรอบคอบที่สุด เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างเหมาะสมแก่ผู้มีส่วนได้เสียต่อไป พร้อมกับการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social and Governance: ESG) เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในทุกประเทศที่เราเข้าไปดำเนินธุรกิจ” นายกิรณ กล่าวปิดท้าย