“ เงินบาท” แข็งค่ากว่าในอาเซียน” กัญญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธาน สรท.

0
266

สิ่งที่เราอยากให้ทาง ธปท.รับทราบคือ นั่นข้อกังวลการรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทของเราได้อย่างไร  ค่าเงินบาทควรเป็นไปตามสภาวะของตลาดโลก  หากค่าเงินบาทแข็งเป็นไปตามแนวทางเดียวก็ต้องยอมรับ ”

สถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังไม่มีความแน่นอน  ยิ่งไปกว่านั้นทิศทางค่าเงินบาทกำลังแข็งค่าขึ้นที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับส่งออกของประเทศ    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ประกอบการส่งออกขนาดกลางและขนาดย่อม(SME)   หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องต่างเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด  เพื่อเตรียมตัวรับมือป้องกันลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น

เช่นเดียวกับ   สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก และกรรมการสรท. ซึ่งเฝ้าติดตามสถานการณ์ส่งออกอย่างใกล้ชิด  โดยนำคณะหารือร่วมกับ วิรไท สันติประภพ  ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  และคณะผู้บริหาร ธปท.เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2560  ที่ผ่านมา  ณ  สำนักงาน ธปท.

กัญญภัค  ตันติพิพัฒน์พงศ์  ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)เปิดเผยถึงผลการหารือร่วมครั้งนี้ว่า    หากพูดถึงค่าเงินบาทในช่วงเดือนมกราคม 2560 ที่ผ่านมา  เราเป็นกังวลมาก เพราะค่าเงินแข็งค่ารวดเร็วมากไปถึง 30 สตางค์   แต่ปัญหาการแข็งค่าไม่ใช่ประสบปัญหาเฉพาะประเทศไทยเพียงอย่างเดียวแต่เป็นทั้งภูมิภาค    แต่อย่างไรก็ดี  เราต้องมองปัจจัยเศรษฐกิจโลก ปัญหาการเมืองในต่างประเทศประกอบด้วยที่ส่งผลกระทบทั่วโลก  สิ่งที่เราอยากให้ทาง ธปท.รับทราบคือ นั่นข้อกังวลการรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทของเราได้อย่างไร  ค่าเงินบาทควรเป็นไปตามสภาวะของตลาดโลก  หากค่าเงินบาทแข็งเป็นไปตามแนวทางเดียวก็ต้องยอมรับ

แต่จากการหารือร่วมกับธปท.คณะกรรมการ สรท. ได้ยืนยันสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่าในปัจจุบันส่งผลกระทบอย่างมากต่อการส่งออกของไทยตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป  โดยเฉพาะการกำหนดราคาขายสินค้ากับคู่ค้าที่เศรษฐกิจประสบภาวะเงินเฟ้อและค่าเงินอ่อนค่า เพราะจะทำให้สินค้าไทยแพงขึ้นอย่างมากในสายตาของผู้บริโภค เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งสำคัญทางการค้า อย่างเช่น จีน เวียดนาม และประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน  ซึ่งค่าเงินแข็งค่าน้อยกว่าค่าเงินบาทของไทย อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย  และฟิลิปปินส์ที่ค่าเงินอ่อนค่า เป็นต้น

เสนอธปท.รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท

คณะกรรมการ สรท. เสนอให้ ธปท. ดำเนินการอย่างสม่ำเสมอในการรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนทำให้ไม่สูงกว่าประเทศคู่แข่งทางการค้า ที่สำคัญการให้ข้อมูลและทิศทางของค่าเงินบาท รวมถึงสาเหตุของการแข็งค่าและอ่อนค่าในแต่ละครั้งว่าเกิดจากเหตุใด เพื่อให้ผู้ประกอบการภาคการส่งออกเข้าใจและสามารถใช้เป็นแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนเสนอให้ ธปท. พิจารณาแนวทางสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ของไทยสามารถเข้าถึงบริการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนให้มากขึ้นและมีต้นทุนที่ ไม่สูงเกินไป อาทิ การลดค่าธรรมเนียม การเพิ่มวงเงินสำหรับการใช้บริการป้องกันความเสี่ยง เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ผู้ส่งออกมีการใช้บริการป้องกันความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องมากขึ้น

“ความจริงค่าเงินบาทบอกไม่ได้ว่า ควรมีอัตราแลกเปลี่ยนเท่าไหร่  แต่ค่าเงินควรมีสมดุลกันหรือการมีเสถียรภาพ แต่ขณะนี้ราคาน้ำมันถูกก็ส่งผลดีต่อต้นทุนผู้ประกอบการส่งออก  ในส่วนสินค้าส่งออกที่ดีและเป็นพระเอกสำหรับในช่วงครึ่งปีแรกเป็นประเภทรถยนต์  ชิ้นส่วนยานยนต์  อย่างงไรก็ดี  ปีนี้พืชผลการเกษตรก็น่าจะดีไม่ประสบปัญหาภัยแล้ง  กลายเป็นผลดีต่อตลาดส่งออกสินค้าเกษตร  ตลาดที่สดใสเป็นตลาดกลุ่มประเทศ C  L M V ที่มีพื้นที่ติดกับประเทศไทย”

นอกจากนี้   เราอยากให้ธปท.เปิดเผยข้อมูลการส่งออกที่รวดเร็วและความชัดเจน  การเข้าถึงข้อมูลได้เพื่อป้องกันความเสี่ยง  รวมถึงเรื่องสินเชื่อตามที่ธนาคารพาณิชย์จัดให้เพียงพอกับผู้ประกอบการส่งออก   ที่ผ่านมา  การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการส่งออกก็ดำเนินการ เพียงแต่ไม่อาจจะไม่มีความชัดเจน ดังนั้น  การเปิดเผยข้อมูลก็ต้องมีความละเอียดและชัดเจนเพียงพอเพื่อการตัดสินใจของผู้ประกอบการส่งออก

การเมืองระหว่างประเทศฉุดค่าบาทแข็งโป๊ก  

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการ สรท. ได้รับฟังคำชี้แจงแนวทางการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนของ ธปท. ในปัจจุบัน ตลอดจนแนวทางการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องในอนาคต ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเกิดจากความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเอง และมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้หลายประการ โดยเฉพาะการเมืองระหว่างประเทศและการเข้ามาลงทุนในตลาดทุนและตลาดการเงินระยะสั้น ซึ่งทำให้เกิดการแข็งค่าอย่างรวดเร็วและรุนแรง โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างทั้งสององค์กร ทั้งการจัดประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและวิเคราะห์ สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศร่วมกัน เพื่อหาข้อสรุปและทิศทางของอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับแจ้งให้กับผู้ส่งออกได้รับทราบสถานการณ์ที่แท้จริงและรับมือได้ทัน

ประธานสรท. ยังกล่าวด่วยว่า  การร่วมมือกันส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการส่งออก การผลักดันการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการผลักดันให้มีการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการซื้อขายสินค้ากับประเทศคู่ค้าที่มีความตกลงกันในเรื่องดังกล่าวให้มากขึ้น โดยเฉพาะการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ คณะกรรมการ สรท. ได้หารือกับคณะผู้บริหาร ธปท. ถึงประเด็นด้านการเงินอื่นที่เกี่ยวกับการ ประกอบธุรกิจ อาทิ ความแตกต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายและดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์    ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญของ ผู้ประกอบการมีความเห็นร่วมกันว่าในส่วนของธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องยกระดับประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจให้ดีขึ้น เพื่อลดต้นทุน ตลอดจนหันมาให้ความสำคัญกับ FINTECH ให้มากขึ้น เพื่อให้มีความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการและทำให้ต้นทุนในการทำธุรกรรมแต่ละครั้งลดต่ำลง

ประเมินแนวโน้มส่งออกหลังจากนี้ก็ต้องดูสถานการณ์เศรษฐกิจโลกประกอบ  และรอดูอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินที่เป็นตัวแปรสำคัญ   แต่คาดว่าส่งออกโดยรวมปี 2560 คาดว่าน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 5% และการส่งออกครึ่งปีแรกอยู่ที่ 5.9 % เฉลี่ยแต่ละไตรมาสส่งออกเติบโตเกิน 5%