รฟม. ปรับแผนเลื่อนกรอบเวลารถไฟฟ้า 4 เส้น เล็งรับจ้างเดินรถเอง

0
256
นายฤทธิกา สุภารัตน์ รักษาการผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ รฟม. ได้ปรับแผนการก่อสร้างรถไฟฟ้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งฝ่ายบริหารได้รายงานความคืบหน้าให้    ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รับทราบแล้ว โดยแผนงานใหม่เป็นการเลื่อนกรอบเวลาดำเนินงานรถไฟฟ้า 4 เส้นทาง คือ 1. โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5กิโลเมตร วงเงิน 4.7 หมื่นล้านบาท และ 2. รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร วงเงิน 4.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 โครงการจะเลื่อนระยะเวลาเริ่มก่อสร้างออกไป 6 เดือน จากเดิมเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา เป็นเดือน ธ.ค. 2560 ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับการส่งมอบพื้นที่ของรฟม.
“ทั้ง 2 เส้นทางนี้กำหนดให้ รฟม. ต้องส่งมอบพื้นที่ทันที นับตั้งแต่วันที่สัญญามีผลบังคับใช้ แตกต่างจากสัญญาอื่นที่มีเวลาส่งมอบพื้นที่ให้ระยะหนึ่ง ดังนั้น รฟม. จึงขอเวลาจัดกรรมสิทธิ์พื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายชมพูและสายสีเหลืองก่อน จากนั้นจะทยอยส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนในเดือน ธ.ค. นี้ โดยตอนนี้ รฟม. ยังไม่ได้ขยายสัญญาให้เอกชน เพราะสัญญาจะเริ่มนับหนึ่งในวันที่เริ่มก่อสร้าง สำหรับข้อเสนอซองที่ 3 หรือข้อเสนอเพิ่มเติม โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู มูลค่ารวม 6,000 ล้านบาท รฟม. ได้ว่าจ้างที่ปรึกษามาศึกษาความเหมาะสมแล้วและคาดว่าจะสรุปได้ภายใน 4 เดือน”
ส่วนเส้นทางที่ 3 คือ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยระยะทาง 16 กิโลเมตร วงเงิน 109,342 ล้านบาท ได้เลื่อนเป้าหมายการเสนอให้ ครม. เห็นชอบจากเดิมเดือน ก.ค.60 ที่ผ่านมาเป็นเดือน เม.ย. 2561 เพื่อศึกษาการให้เอกชนร่วมทุน (PPP) ตามนโยบายของรัฐบาล
นอกจากนี้ นายฤทธิกา กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทาง รฟม. ยังได้มีการได้ว่าจ้างที่ปรึกษาให้ศึกษาความเหมาะสมในโครงการ รูปแบบลงทุน พีพีพี งานโยธา และงานเดินรถเป็นระยะเวลา 4 เดือน คาดน่าจะได้ข้อสรุปในปลายปีนี้ ทั้งนี้ ตามกรอบเวลาใหม่จะส่งผลให้การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ล่าช้าออกไปประมาณ 9 เดือน เป็น ก.พ. 2568 แต่จะไม่กระทบการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างและมีแผนจะเปิดให้บริการก่อนในปี 2566
“โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มมีบทเรียนว่า ควรมีผู้เดินรถเจ้าเดียวเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ซึ่งก็อาจจะทำเป็นหลายๆ ทางเลือก โดยทางเลือกหนึ่งคือ รฟม. เดินเองตามที่ท่านประธานบอร์ดให้นโยบาย เพราะหลังจากที่เราสร้างหมดแล้ว มันก็ไม่ค่อยเหลือรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ให้สร้างแล้วเพราะฉะนั้นเราจะเดินรถ หรืออนาคตเราอาจจะเป็นผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษากับหน่วยงานต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ เช่น ลาว กัมพูชาเวียดนาม ที่อยู่ใกล้ๆ กับบ้านเรา”
ส่วนโครงการสุดท้ายคือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ใต้) ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร วงเงิน 101,112 ล้านบาท ซึ่งจะเลื่อนเป้าหมายการประกวดราคาจากเดือน ต.ค. เป็นเดือน ธ.ค. นี้ ส่วนผลการประมูลก็จะเลื่อนจากเเดิมดือน ส.ค. 2561 เป็นเดือน พ.ย. 2561
“ตอนนี้ยังไม่ได้สรุปว่าจะแบ่งการประมูลงานโยธารถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้เป็นกี่สัญญา เพราะขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และมูลค่างานก่อสร้าง แต่คาดว่าน่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2561 และเปิดให้บริการได้ภายในปี 2566-2567
และรฟม. ไม่ได้ปรับแผนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ระยะทาง26.98 กิโลเมตร มูลค่า 8.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยยังคงเป้าหมายจะเปิดช่วงหัวลำโพง-บางแค ในปี 2562 และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ในปี 2563″
อย่างไรก็ดี รฟม.ยังไม่ได้ปรับแผนงานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 13 กิโลเมตร วงเงิน 2.8 หมื่นล้านบาท ที่จะเปิดให้บริการในปี 2561 และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 19 กิโลเมตร วงเงิน ที่จะเปิดให้บริการในปี 2563 แต่ต้องหารือเรื่องการโอนหนี้สินและทรัพย์สินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้เรียบร้อยก่อน
“สายสีเขียวยังไม่มีการปรับแผน ตอนนี้คุยกับ กทม. เรื่องภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ แต่บอร์ดก็ให้ไปเตรียมศึกษาว่า ถ้า กทม. มีปัญหาจริงๆ ไม่สามารถจ่ายเงินค่าโอนสายสีเขียวได้ ควรทำอย่างไรบ้างเพื่อให้เปิดบริการได้ตามเป้าหมายเดิมและบริหารความเสี่ยง” 
สำหรับกรณีที่รถไฟใต้ดินสายสีน้ำเงินเปิดเดินรถ 1 สถานี เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง (เหนือ) ช่วงบางใหญ่-เตาปูน เมื่อวันที่ 11 ส.ค. ที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้รถไฟฟ้าสายสีม่วงมีผู้โดยสารเฉลี่ยช่วงวันจันทร์-ศุกร์เพิ่มขึ้นจาก 33,000 คนต่อวัน เป็น 47,000 คนต่อวัน โดยทำสถิติสูงสุดอยู่ที่ 50,000 คนต่อวัน ส่วนวันหยุดมีผู้โดยสารเฉลี่ย 29,000 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 7,000 คนต่อวัน จากเดิมอยู่ที่ 22,000 คนต่อวัน โดย รฟม.จะคงโปรโมชั่นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงจนถึงสิ้นปี 2560 จากนั้นจะทบทวนเรื่องการปรับขึ้นค่าโดยสารต่อไป