เปิดใช้แล้ว!ถนนเลี่ยงเมืองโคราช 16.3 กม.

0
324

กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กระทรวงคมนาคม ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนสาย ฉ ผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา ระยะทางรวม 16.332 กิโลเมตร เปิดให้ประชาชนใช้สัญจรแล้ว เพื่อเพิ่มศักยภาพสายทาง เชื่อมโยงโครงข่ายวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมาให้มีความสมบูรณ์ ระบายการจราจรในเขตเมือง และบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม และโฆษกกระทรวงฯ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการระบบคมนาคมขนส่ง เชื่อมโยงพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่มีศักยภาพ รองรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และเชื่อมโยงการเดินทางเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยว เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาจราจรในเมืองใหญ่ในภูมิภาคที่มีบทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะเมืองหลักที่มีบทบาทด้านการท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต นครราชสีมา ขอนแก่น พิษณุโลก สงขลา เป็นต้น
จ.นครราชสีมา เป็นเมืองศูนย์กลางการค้าและการพาณิชย์ที่มีจำนวนประชากรสูงสุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีแนวโน้มการขยายตัวของเมืองเพิ่มขึ้น ทำให้มีปริมาณการจราจรหนาแน่นและติดขัด เนื่องจากโครงข่ายถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมางไม่ครบสมบูรณ์ มีเพียงทางหลวงหมายเลข 204 ที่เป็นทางเลี่ยงเมืองด้านทิศตะวันตกเท่านั้น ขาดถนนเลี่ยงเมืองด้านทิศตะวันออกที่จะส่งผ่านการจราจรไปยังเมืองใหญ่ เช่น ขอนแก่น บุรีรัมย์ สุรินทร์ อุบลราชธานี เป็นต้น ทำให้ผู้ใช้ทางต้องผ่านเขตเมือง โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) และทางหลวงหมายเลข 205 (ถนนสุรนารายณ์) ทดแทน ส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดในเขตรอบตัวเมืองนครราชสีมา เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทช. ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนสาย ฉ ผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมา ถนนเลี่ยงเมืองด้านทิศตะวันออก ลักษณะโครงการเป็นถนนแอสฟัลท์ติกคอนกรีต ขนาด 4 ช่องจราจร ระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างทางหลวงหลัก 3 สาย ได้แก่ ทางหลวงหมายเลข 2 ด้านทิศเหนือของสายทาง ทางหลวงหมายเลข 226 ช่วงกลางสายทาง และทางหลวงหมายเลข 224 ด้านทิศใต้ของสายทาง ปัจจุบันการก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดให้ประชาชนใช้สัญจรแล้ว ส่งช่วยเพิ่มศักยภาพสายทางให้มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย แก้ไขปัญหาการจราจร ส่งเสริมคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมของจังหวัด และเชื่อมโครงข่ายวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมาให้มีความสมบูรณ์ ระบายการจราจรในเขตเมือง และรองรับการเจริญเติบโตของเมืองในอนาคต