เปิดวิสัยทัศน์ ผอ.กทท.ป้ายแดง กับภารกิจ “กทท.เชื่อมประตูเศรษฐกิจไทย-โลก”

0
357

นับตั้งแต่การท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม ได้ว่างเว้น “ผอ.กทท.”ในฐานะหัวเรือหลักในการนำพาองค์กรที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยนานกว่าขวบปี ทำให้เดินหน้าภารกิจของกทท.รัฐวิสาหกิจในฐานะหน่วยงานที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่ประตูเศรษฐกิจอาเซียน พร้อมสยายปีกให้ก้าวไกลสู่ประตูเศรษฐกิจโลกตกอยู่ในภาวะ“ไร้หางเสือ”

ทำให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)รัฐวิสาหกิจที่มุ่งเน้น “ความเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำและโลจิสติกส์” ถูกจับตาเป็นพิเศษในห้วงรอยต่อการแต่งตั้ง “ผอ.กทท.คนใหม่” เพื่อขับเคลื่อนองค์กรภายใต้บทบาทและหน้าที่อย่างสมบูรณ์แบบ ! 

suttinun2

จนในที่สุดเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2558 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้มีมติแต่งตั้ง เรือเอกสุทธินันท์ หัตถวงษ์ อดีตผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง ให้ดำรงตำแหน่ง “ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)” คนใหม่ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2559

และเมื่อพลิกแฟ้มประวัติการทำงาน ผอ.กทท.ใหม่ป้ายแดงท่านนี้ไม่ธรรมดา เพราะเคยผ่านการดำรงตำแหน่งหลักๆ โดยปี 2541 เป็นผู้อำนวยการกอง กองบริการ ท่าเรือแหลมฉบัง, 2548 นักบริหาร 13 ท่าเรือแหลมฉบัง, 2551 ผู้ช่วยผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง, 2553 รองผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง, 2555 ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง จากนั้นปี 2558 ขยับนั่งรองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย สายวิศวกรรม ถือเป็น “ลูกหม้อ” กทท.อย่างแท้จริง

ด้วยเหตุนี้ Logistics Time ขอประมวลวิสัยทัศน์ ผอ.กทท.ป้ายแดง ในฐานะหัวเรือหลักในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายภายใต้บทบาทและหน้าที่ของกทท. รวมถึงการสานต่อแผนงานเดิม และเร่งรัดแผนงานประจำงบประมาณประจำปี 2559 ดังต่อไปนี้ :

ด้วยวิสัยทัศน์ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) ที่มุ่งเน้นภารกิจกับการเป็น”ศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำและโลจิสติกส์ เชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่อาเซียน” พร้อมกับการยึดมั่นในค่านิยมต่อความเป็นองค์กรที่ “ยึดมั่นธรรมาภิบาล บริการด้วยใจ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม พร้อมร่วมมือเพื่อองค์กร” ภายใต้ภารกิจการขยายบริการท่าเรือและธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับโลจิสติกส์ทางน้ำในประเทศและอาเซียน การพัฒนาและบริหารทรัพยากรต่างๆภายในองค์กรให้เต็มศักยภาพ ยกระดับมาตรฐานในการให้บริการมีความทันสมัย มีธรรมาภิบาล และมีมาตรฐานสากล ทำให้ ณ วันนี้กทท. ได้ก้าวเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และยังเป็นที่ยอมรับของผู้ใช้บริการทั้งในและต่างประเทศ”ปรารภแรกที่ “เรือเอกสุทธินันท์ หัตถวงษ์” ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดสัมภาษณ์พิเศษ Logistics Time

รุกพัฒนาศักยภาพรองรับเออีซี

อย่างไรก็ดี เรือเอกสุทธินันท์ เปิดเผยว่าหลังประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเปิดเต็มบาน กทท. ในฐานะประตูการค้าทางเศรษฐกิจที่สำคัญในการนำเข้า-ส่งออกของประเทศ จึงมีนโยบายและโครงการในการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มประสิทธิภาพของท่าเรือทั้งทางด้านทรัพยากรมนุษย์ ด้านเทคโนโลยี ด้านการให้บริการ ด้านการปฏิบัติงาน และด้านการอำนวยความสะดวกและกฎระเบียบต่างๆ เพื่อเพิ่มบทบาทการขนส่งทางน้ำและการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบของประเทศ ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของ AEC และช่วยเพิ่มขีดความสามารถของไทยในตลาดโลก

“การพัฒนาระบบโครงข่ายทางถนนของประเทศในภูมิภาคอาเซียน แม้จะสามารถรองรับและเชื่อมต่อการขนส่งใน 6 ประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ   เหนือ-ใต้ และ เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ที่สามารถเชื่อมโยงการขนส่งกับกลุ่มประเทศ BIMSTEC ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าว จากการที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ อีกทั้งยังสามารถเป็นประตูการค้าการคมนาคมขนส่งให้แก่ภูมิภาคและประเทศจีนตอนใต้ เนื่องจากสามารถส่งสินค้าผ่านไปยังประเทศฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดียได้สะดวก กทท. จึงได้ดำเนินการและเร่งพัฒนาประสิทธิภาพระบบการให้บริการ รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ของท่าเรือในความรับผิดชอบเพื่อเตรียมความพร้อมต่อการรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและประเทศจีนตอนใต้ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า”

นอกจากนี้ ผอ.กทท. ยังระบุอีกว่าจากวิสัยทัศน์ของ กทท. มุ่งสู่ “ศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำและโลจิสติกส์ เชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่อาเซียน” ภายในปี 2562 ภายใต้การดำเนินงานตามแผนวิสาหกิจ ฉบับที่ 11 ปีงบประมาณ 2558 – 2562 กทท. ได้กำหนดภารกิจหลัก ประกอบด้วย การขยายบริการท่าเรือและสร้างธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวเนื่อง พัฒนาและบริหารทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการและยกระดับการให้บริการให้ทัดเทียมสากล ซึ่งจากทั้ง 3 ภารกิจนี้ กทท. ได้มีการวิเคราะห์เพื่อจำแนกกลยุทธ์   คาดว่ารองรับด้วยแผนงาน/โครงการต่างๆ ตลอดระยะเวลา 5 ปีของแผนวิสาหกิจเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนภารกิจต่างๆ ให้ประสบผลสำเร็จและบรรลุวิสัยทัศน์ที่ได้กำหนดไว้ การสร้างมูลค่าเพิ่มจากศักยภาพและขีดความสามารถของ กทท. เพื่อรองรับและสนับสนุนการเชื่อมโยงการค้าการลงทุนของประเทศในภูมิภาค

ผุดโครงการ “20G – CFS”บนพื้นที่ทกท.

ถึงกระนั้น เรือเอกสุทธินันท์ เปิดเผยถึงแผนงานในปีงบประมาณ 2559 ว่า กทท.จะดำเนินงานและโครงการต่างๆตามแผนวิสาหกิจฉบับที่ 11 และ SEPA Roadmap ในการปรับปรุงการบริหารจัดการและพัฒนาการดำเนินงานขององค์กรอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือภูมิภาค เริ่มจากการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ(ทกท.)กับโครงการท่าเทียบเรือ 20G บริเวณเขื่อนตะวันออก (ปากคลองพระโขนง) เพื่อรองรับปริมาณตู้สินค้าและเรือชายฝั่งที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ใช้บริการให้ได้รับความสะดวกและปลอดภัยในการบริการขนส่งสินค้า คาดสามารถเปิดให้บริการในปี 2560

“โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการเทียบท่าของเรือชายฝั่งโดยเฉพาะ เนื่องจากปัจจุบันปริมาณตู้สินค้าและเรือชายฝั่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเป็นการสนองตอบนโยบายของรัฐบาลในการบูรณาการการขนส่งทางน้ำ เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ โดย ทกท. จะปรับปรุงพื้นที่บริเวณหน้าท่า 20G ความยาว 150 เมตร พร้อมติดตั้งระบบไฟฟ้าแรงสูง เพื่ออำนวยความสะดวกในการยกตู้สินค้า มีพื้นที่วางตู้สินค้าเพิ่มขึ้น 22,000 TEUs./ปี มีวิสัยสามารถรองรับเรือชายฝั่งได้ประมาณปีละ 4,000 ลำ หรือคิดเป็นปริมาณตู้สินค้า 240,000 TEUs./ปี ผู้ใช้บริการจะได้รับความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลาและปลอดภัยในเรื่องบริการขนส่งสินค้า ช่วยลดมลภาวะทางบกและทางอากาศ บรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด

ส่วนการสร้างสถานีบรรจุสินค้าส่งออก (CFS)นั้น ผอ.กทท.เผยรายละเอียดว่าCFS เป็นสถานที่การบริการบรรจุสินค้าส่งออกแก่ผู้ประกอบการบรรจุสินค้าในเขตรั้วศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) พร้อมทั้งใช้เป็นสถานที่เก็บสินค้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในเขตพื้นที่ ทกท. และในระบบโลจิสติกส์ (Value Added Logistics) ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการศึกษาออกแบบรายละเอียดระบบปฏิบัติการ การบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภค และระบบสนับสนุนต่างๆ และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น

“โครงการนี้จะสามารถรองรับการให้บริการบรรจุสินค้ารูปแบบใหม่ที่ทันสมัยแก่ผู้ประกอบการส่งออก ตัวแทนเรือ และผู้รับจัดการขนส่งในเขตรั้วศุลกากร ทกท. ให้มีความปลอดภัยและมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีขึ้น เหมาะสมต่อการให้บริการสินค้า โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าสูง สามารถพัฒนาต่อยอดการใช้ประโยชน์ไปสู่กิจกรรมการให้บริการใหม่ ๆ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ กทท. อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ของประเทศในภาพรวม และเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอีกด้วย”

เนรมิตพื้นที่ 17 ไร่ข้าง กทท. เป็น “ศูนย์ธุรกิจพาณิชยนาวี”

ด้านการเตรียมพัฒนาพื้นที 17 ไร่ บริวณด้านข้างกทท.เป็นอาคารศูนย์ธุรกิจพาณิชยนาวีนั้น เรือเอกสุทธินันท์ ระบุว่าโครงการนี้มีรูปแบบให้เอกชนลงทุนพัฒนาและบริหารจัดการตลอดอายุสัญญา และเมื่อครบกำหนดสัญญาต้องโอนทรัพย์สินให้แก่ กทท. ปัจจุบันอยู่ระหว่างนำเสนอโครงการต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง พิจารณานำเสนอคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP’s) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการของโครงการต่อไป

“โครงการนี้ประกอบด้วยพื้นที่สำนักงานของ กทท. ศูนย์ฝึกอบรมพาณิชยนาวี พิพิธภัณฑ์ พื้นที่สำนักงานสำหรับบริษัท สายเรือ Freight Forwarder Shipping การประกันภัย ขนส่ง และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในกิจการของ กทท. และระบบโลจิสติกส์ โดยคำนึงถึงการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ออกแบบอาคารประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นอาคารที่มีรูปแบบการพัฒนาเชิงพาณิชยนาวีครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทย โดยบูรณาการเข้ากับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทางด้านระบบงานศุลกากร ระบบข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ การขนส่งทางน้ำและการขนส่งอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งสามารถกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะการขนส่งทางน้ำแบบครบวงจร

พัฒนาพื้นที่ทลฉ. บูรณาการ“โลจิสติกส์”เต็มรูปแบบ

ส่วนแผนงานการพัฒนาพื้นทีท่าเรือแหลมฉบังนั้น ผอ.กทท.กล่าวว่าการเร่งพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดย กทท. เป็นผู้ลงทุนก่อสร้างพื้นฐานและเครื่องยกขนหลัก (Major Equiment) ทั้งหมด รวมถึงการบริหารและประกอบการเป็นจำนวนเงิน 1,864.19 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดหาผู้รับเหมาก่อสร้างและจัดหาเครื่องมือยกขน คาดใช้ระยะเวลาดำเนินการ 4 เดือน และใช้เวลาก่อสร้างปร 2 ปี และคาดเปิดให้บริการได้ภายในปี 2561

“โครงการนี้เป็นการให้บริการแบบสาธารณะเพื่อขนส่งสินค้าทางเรือชายฝั่งและเรือลำเลียงภายในประเทศ โดยพัฒนาพื้นที่ริมน้ำบริเวณก้นแอ่งจอดเรือที่ 1 ระหว่างท่าเทียบเรือผู้โดยสาร A1 และท่าเทียบเรือชายฝั่งและอเนกประสงค์ A0 สามารถรับสินค้าชายฝั่งได้พร้อมกัน 2 ลำ พร้อมพื้นที่สนับสนุนบนฝั่งประมาณ 43 ไร่ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ กทท. ได้สูงกว่าการนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่นๆ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศโดยรวม รวมทั้งเพื่อส่งเสริมให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากทางถนนไปสู่การขนส่งทางน้ำโดยเรือชายฝั่งแทน ลดปัญหาการจราจรแออัด อุบัติเหตุ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงาน อีกทั้งยังเป็นการลดต้นทุนของระบบ Logistics ของประเทศ

นอกจากนี้ ทลฉ. ยังเดินหน้าพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (SRTO)  (Single Rail Transfer Operator : SRTO) เพื่อพัฒนาและลดต้นทุนโลจิสติกส์โดยรวมของประเทศ ประหยัดพลังงาน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขยายตัวของการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟในอนาคต และลดปัญหาการจราจรทางถนนที่คับคั่ง ใช้งบประมาณ 2,944.93 ล้านบาท มีระยะเวลาในการก่อสร้าง 18 เดือน คาดจเปิดให้บริการในปี 2561 ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการสรรหาผู้รับเหมาก่อสร้าง

สร้างมูลค่าเพิ่ม 3 ท่าเรือภูมิภาค

ส่วนอีก 3 ท่าเรือภูมิภาคที่อยู่ในความรับผิดขอบของกทท. นั้น เรือเอกสุทธินันท์ ระบุว่าทั้ง 3 ท่าเรือภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือเชียงของ ท่าเรือเชียงแสน และท่าเรือระนอง เป็นโจทย์ที่เราต้องเข้าเสริมกลยุทธ์ด้านการตลาดให้มากขึ้น เพื่อให้ทั้ง 3 ท่าเรือได้ใช้งานและการบริการได้เต็มประสิทธิภาพ

“ก่อนหน้านี้ผมได้ไปดูงานทีท่าเรือเชียงแสน แทนที่ปริมาณสินค้าจะเพิ่มมากขึ้นแต่กลับน้อยลงกว่าเดิม เพราะมีข้อจำกัดกรณีของประเทศจีนเข้มงวดและห้ามรับสินค้าบางประเภท เช่น สินค้าประเภทเนื้อสด ทำให้ปริมาณสินค้าก็ลดลงโดยปริยาย ซึ่งผมจะไปลงอีกทีว่าเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ส่วนท่าเรือเชียงของหลังมีสะพานข้ามแม่น้ำโขงไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 4 ทำให้การใช้ประโยชน์ท่าเรือเชียงของซบเซาลง จากเดิมที่มีการใช้เพื่อการขนส่งสินค้าทางน้ำด้วยแพขนานยนต์ระหว่างไทย-สปป.ลาว-จีนตอนใต้ ทางผู้ประกอบการก็หันไปใช้สะพานในการขนส่งสินค้าแทน ซึ่งเป็นความจริงที่เราต้องยอมรับตามสภาวะที่เกิดขึ้น ถึงกระนั้นเราก็ต้องหารือว่าเราจะดำเนินการในมิติไหนบ้าง เพื่อก่อประโยชน์ในการใช้ประโยชน์จากท่าเรือเชียงของ

อย่างไรก็ดี ผอ.กทท.สรุปปิดท้ายถึงแผนงานเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับท่าเรือระนองว่าเป็นอีกท่าเรือที่ได้รับมอบการบริหารจากกรมเจ้าท่า แม้ก่อนหน้านี้จะเป็นความคาดหวังในอนาคตว่าจะเป็นประตูเศรษฐกิจสำคัญของไทย เพื่อกระจายตู้สินค้าทางทะเลฝั่งอันดามันไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สหภาพเมียนมาร์ กลุ่มประเทศ BIMSTEC ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ที่ประเทศไทยเข้าร่วมกับอีก 6 ประเทศคือ บังคลาเทศ ภูฏาน อินเดีย สหภาพเมียนมาร์ เนปาล และศรีลังกา

“แต่ปัจจุบันกลับไม่ได้เป็นไปตามความคาดหวัง เพราะการใช้งานด้านตู้สินค้ายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ก่อนหน้านี้มีความพยายามด้านการบริหารจัดการตู้สินค้า แต่กลับติดขัดการบริหารจัดการตู้เปล่า ส่งผลกระทบด้านต้นทุนสูงขิ้นตามมา และไม่อาจสู้ราคากับท่าเรืออื่นๆได้ ซึ่งต้องเข้าไปดูว่าจะทำอย่างไรให้มีตู้หมุนเวียน และทำให้ปริมาณสินค้านำเข้า-ส่งออกเกิดความสมดุลได้”

ปฏิเสธไม่ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการกทท.ได้พัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพงานบริการของท่าเรือต่างๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบ คู่ขนานกับกานำระบบการบริหารจัดการสมัยใหม่ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ รวมทั้งปรับเปลี่ยนระบบการบริหารงานเป็นแบบธุรกิจเอกชน เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินงานและรองรับการขยายธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวเนื่องในอนาคต

อีกทั้งยังมุ่งเน้นเสริมสร้างเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่ง และเดินหน้าขับเคลื่อนให้เชื่อมโยงสู่ประตูเศรษฐกิจอาเซียนและเศรษฐกิจโลก ผนวกกับการบริหารจัดการด้วยบริการระดับสากล เป็นท่าเรืออิเล็กทรอนิกส์สมบูรณ์แบบ มีธรรมาภิบาล โปร่งใสและตรวจสอบได้ ภายใต้วิสัยทัศน์ “ศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำและโลจิสติกส์” อย่างแท้จริง!