CPF ร่วมพัฒนาโครงการคอนเน็กซ์ อีดี เสริมกิจกรรม ดนตรี มัคคุเทศก์น้อย

0
180

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือCPF ร่วมสนับสนุนโครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน (Connext Ed) ภายใต้โครงการประชารัฐตามนโยบายรัฐบาล ด้านการศึกษา ให้กับโรงเรียนตำบลบ้านโพธิ์ จังหวัดนครราชสีมา โดยมุ่งมั่นการสร้างความเป็นผู้นำ สู่การพัฒนาทักษะในครูและองค์ความรู้ในเด็ก ตลอดจนการสร้างทักษะอาชีพตามความถนัดและการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อยกระดับสังคมอย่างยั่งยืน
นายเอนก บุญหนุน ประธานบริหารโครงการ Connext ED บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า  CPF มีความมุ่งมั่นและตั้งใจในการยกระดับการศึกษาของประเทศ แม้จะเป็นเรื่องยากแต่เราพยายามสร้างสำนึกในการทำงานร่วมกันระหว่าง โรงเรียน ชุมชน และศาสนา ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สิ่งที่เราดำเนินการภายใต้โครงการนี้ คือ การปรับฐานเศรษฐกิจผ่านโครงการเกษตรผสมผสาน ให้ทุกคนอิ่มท้อง สร้างแนวคิดให้กับชุมชน ว่าชุมชนคือโรงเรียนที่ 2 และโรงเรียนคือบ้านที่ 2 ซึ่งชุมชนและครูจะเป็นผู้หล่อหลอมให้เด็กเป็นคนดี

ขณะที่ ICT เป็นเครื่องมือและองค์ความรู้ในการส่งเสริมให้ครูและนักเรียนคิดนอกกรอบ ที่สำคัญการสร้าง 7 อุปนิสัยของผู้มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแนวคิดของครู นักเรียนและคนในชุมชน สู่ความเป็นผู้นำ”  ในการสนับสนุนโครงการคอนเน็กซ์ อีดี บริษัทฯยังได้ส่งเสริมศักยภาพของคนรุ่นใหม่ในบริษัทเอกชนเข้ามาเป็นอาสาสมัครผู้นำ (School Partner) ในการยกระดับการศึกษาของประเทศด้วย โดยซีพีเอฟ มีอาสาสมัครผู้นำจำนวน 65 คน และมีโรงเรียนในความรับผิดชอบทั้งหมด 195 แห่ง ครอบคลุม 3 จังหวัด คือ นครราชสีมา บุรีรัมย์และชัยภูมิ

นายเอนก กล่าวต่อไปว่า  เป้าหมายของ ซีพีเอฟ คือการปลูกฝังเด็กให้เป็นคนดี-คนเก่ง มีความรู้ทั้งทางวิชาการและวิชาชีพควบคู่กับคุณธรรม ที่สำคัญเด็กสามารถคิดอย่างสร้างสรรค์และเลือกแนวทางการดำเนินชีวิตได้ตามศักยภาพและความถนัดอย่างถูกต้อง โดยอาสาสมัครผู้นำของ CPFจะร่วมหารือกับผู้บริหารโรงเรียนและครูอย่างใกล้ชิด เพื่อกำหนดกิจกรรมให้เหมาะสมกับทั้งตัวครูและนักเรียนรวมถึงการพัฒนาการงานอาชีพให้นักเรียนสามารถพัฒนาเป็นอาชีพได้ในอนาคต เช่น การปูพื้นฐานทางด้านการเกษตร การสร้างอาชีพของตัวเองในด้านการปรุงอาหาร การทำอิฐบล็อก การให้บริการด้านมัคคุเทศก์ รวมถึงสร้างพื้นฐานทางอารมณ์ที่ดีผ่านเสียงดนตรี และการปลูกฝังการรู้แพ้รู้ชนะ มีน้ำใจเป็นนักกีฬา เป็นต้น ซึ่งจะเป็นผลดีในการยกระดับคุณภาพชีวิตและสังคมไทยให้ได้มาตรฐาน ขณะเดียวกันจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

นายวิรัช คุ้มกลาง ผู้อำนวยการโรงเรียนตำบลบ้านโพธิ์ กล่าวว่า CPFเข้ามาให้การสนับสนุนงบประมาณในการจัดกิจกรรม 3 ด้าน คือ โครงการดนตรี โครงการกีฬา และโครงการมัคคุเทศก์น้อย รวมถึงการให้การสนับสนุน ICT เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนและครูได้เรียนรู้จากนอกห้องเรียนเพิ่มขึ้น ซึ่งแต่ละโครงการมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาเด็กกลุ่มเสี่ยงจากยาเสพติด ขณะเดียวกันมุ่งเพิ่มทักษะด้านกีฬา การงานอาชีพและเพิ่มทักษะการสื่อสารอย่างถูกต้อง เพื่อให้เด็กนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถนำไปประกอบเป็นอาชีพได้ในอนาคต

สำหรับ 3 โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายแตกต่างกัน โดย “โครงการสุนทรียภาพต้องมีดนตรีในหัวใจ” เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักเรียนให้มีความรับผิดชอบ ฝึกเรื่องระเบียบวินัย การใช้ดนตรีในการสื่อสาร และการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ส่วน “โครงการกีฬาพาสุข” ต้องการให้นักเรียนหันมาเล่นกีฬาเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงห่างไกลจากยาเสพติด

ขณะที่ “โครงการ English for Life by มัคคุเทศก์น้อย” เป็นการเพิ่มทักษะการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารให้กับนักเรียน เนื่องจากโรงเรียนอยู่ในแหล่งวัฒนธรรม มีปราสาทหินพนมวัน อุโมงค์ต้นตาล เป็นชุมชนทำสินค้าถักทอและเครื่องจักสาน ซึ่งการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษจะทำให้นักเรียนเป็นตัวกลางในการถ่ายทอดวัฒนธรรม และใช้ในการประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ท้องถิ่นอย่างยั่งยืนได้เป็นอย่างดีในอนาคต

 

“โรงเรียนเปิดให้นักเรียนเลือกและเข้าร่วมโครงการด้วยความสมัครใจ ซึ่งช่วงแรกจะชักชวนเด็กที่มีพรสวรรค์เข้ามาร่วมโครงการเพื่อเป็นตัวอย่าง และเป็นแรงจูงใจให้กับเด็กกลุ่มเสี่ยงให้เข้าร่วมกิจกรรม และจากการติดตามผลเราพบว่าเด็กมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้นทั้งในเรื่องการมีวินัยและความรับผิดชอบ” นายวิรัชกล่าว
ในปี 2018 โครงการมีเป้าหมายจะเดินหน้าให้บรรลุเป้าประสงค์ยุทธศาสตร์ 5 ประการ คือ 1.ความโปร่งใสของข้อมูลสถานการศึกษา 2. กลไกการตลาดและการมีส่วนร่วมของชุมชน 3. การพัฒนาและส่งเสริมผู้นำรุ่นใหม่ 4. การเรียนการสอนที่มุ่งให้เกิดเป็นศูนย์กลาง และ 5.การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของสถานศึกษาและจะขยายโรงเรียนประชารัฐเพิ่มขึ้นอีก 1,400 แห่ง รวมเป็นกว่า 4,700 โรงเรียนทั่วประเทศ