“นกสกู๊ต” เตรียม เปิดเส้นทางใหม่ กรุงเทพ – นาริตะ

0
414

นกสกู๊ต” ฝันรูทใหม่ ‘ญี่ปุ่น-เกาหลี’ พลิกเป็นกำไร 100 ล้านบาทในปีนี้ จ่อเปิดบิน “กรุงเทพฯ-นาริตะ” Q2/61 ดันรายได้ 1 หมื่นล้าน อัพผู้โดยสารแตะ 1.9 ล้านคน พร้อมเตรียมเสริมทัพฝูงบินใหม่ปีนี้ 1 ลำ

นายยอดชาย สุทธิธนกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินนกสกู๊ต เปิดเผยว่า สายการบินนกสกู๊ตเตรียมเปิดให้บริการเส้นทางบินใหม่ กรุงเทพฯ-นาริตะ (ญี่ปุ่น) ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ รวมถึงเส้นทางกรุงเทพฯ-โอซาก้า (ญี่ปุ่น) และกรุงเทพฯ-อินชอน (เกาหลีใต้) ในลำดับถัดไป ซึ่งถือเป็นเส้นทางที่มีดีมานต์สูง และมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาขออนุญาตการบินจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ กพท. นอกจากนี้ สายการบินนกสกู๊ตยังมีแผนที่จะเปิดเส้นทางบินไปยังเมืองมุมไบ และเดลี ประเทศอินเดียด้วย

ทั้งนี้ การเปิดเส้นทางบินทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ดังกล่าว เชื่อว่าจะทำให้ในปี 2561 สายการบินนกสกู๊ตจะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท และเป็นกำไรมากกว่า 100 ล้านบาท และเป็นปีแรกที่สามารถทำกำไรให้กับสายการบินได้ จากที่ในปี 2558 ขาดทุน 1,200 ล้านบาท ปี 2559 ขาดทุน 600 ล้านบาท และปี 2560 ขาดทุน 60 ล้านบาท ในส่วนของผู้โดยสารนั้น ตั้งเป้าว่าจะมีจำนวน 1.9 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 อยู่ที่ 1.1 ล้านคน โดยคาดว่าจะมีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) อยู่ที่ 89% เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วอยู่ที่ 87%

“เส้นทางญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ผมเชื่อว่าจะยังเติบโตไปได้อีก และเป็นตลาดสำคัญของไทย มีดีมานต์ค่อนข้างสูง โดยทั้งนักท่องเที่ยวของไทยไปญี่ปุ่น และนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเดินทางมาไทย ยังได้รับความสนใจเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นปัจจัยให้สายการบินนกสกู๊ตดำเนินการตามแผนที่วางไว้ และจะเติบโตขึ้นในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมารายได้ส่วนใหญ่นั้น จะยังคงเป็นสัดส่วนของตลาดจีน แต่ในปีนี้ ยังไม่มีแผนที่จะเพิ่มดส้นทางบิยและเพิ่มความถี่ และในปีนี้สัดส่วนรายได้ของจีนอาจจะน้อยลง ด้วยการเพิ่มเส้นทางญี่ปุ่นและเกาหลีใต้” นายยอดชาย กล่าว

นายยอดชาย กล่าวต่อว่า ในไตรมาส 2 ของปีนี้ สายการบินนกสกู๊ต มีแผนที่จะเช่าเครื่องบินโบอิ้ง 777-200 จำนวน 1 ลำ ทำให้สิ้นปี 2561 นกสกู๊ตจะมีเครื่องบินทั้งสิ้น 5 ลำ และตั้งแต่ปี 2562-2565 นั้น จะทยอยขยายฝูงบินเพิ่มปีละ 2 ลำด้วย ขณะที่ชั่วโมงการใช้งานเครื่องบิน ในปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 12.7 ชั่วโมงต่อเครื่องต่อวัน จากปีที่แล้วอยู่ที่ 11.5 ชั่วโมงต่อเครื่องต่อวัน

อย่างไรก็ตาม นายยอดชาย ยังกล่าวถึงแผนประกันความเสี่ยงจากราคาน้ำมันอากาศยานเพิ่มขึ้น ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการว่า สายการบินนกสกู๊ตได้กำหนดราคาไว้ที่ 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งได้ประเมินสถานการณ์จากรายได้ที่คาดการณ์ไว้แล้วบางส่วน