สรท.เผยควันหลงบาทแข็งค่า ฉุดรายได้ส่งออกวูบแล้ว 5 พันล้าน

0
118
น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นไปแล้ว 2.85% ทำให้ไทยสูญเสียรายได้จากการส่งออกไป 5,000 ล้านบาทแล้ว และหากยังแข็งค่าต่อเนื่อง เกรงว่าจะทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยในปีนี้ลดเหลือขยายตัวเพียง 3.5% จากเป้าหมายเดิมที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวที่ 5.5% จากปี 60
“ประมาณการณ์เดิม มองไว้ที่ 5.5% ภายในเงื่อนไขอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ระดับ 33 บาท/เหรียญสหรัฐฯ และยังไม่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในประเทศ แต่ล่าสุดเงินบาทแข็งค่ามาอยู่ที่ระดับ 31.43 บาท/เหรียญฯ และหากทั้งปีแข็งค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 31 บาท/เหรียญฯ รวมทั้งไม่มีการดำเนินการหรือมาตรการใดๆ มาช่วย ก็อาจทำให้ยอดส่งออกของไทยปีนี้ลดลงจากที่คาดไว้ แต่เบื้องต้น สรท.ยังคงเป้าเดิมไว้ที่ 5.5% ก่อน” น.ส.กัณญภัค กล่าว
อย่างไรก็ตาม สรท.มีข้อเสนอแนะสำหรับการแก้ไขปัญหาจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และการแข็งค่าของเงินบาท ประกอบด้วย 1.ขอเลื่อนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำออกไปอีก 1 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีเวลาปรับปรุงประสิทธิภาพและเพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน 2.ขอขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือด้านการลดหย่อนภาษีให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) 1.15 เท่าออกไปถึงสิ้นปี 62  จากเดิมที่จะสิ้นสุดมาตรการสิ้นปีนี้  3.ลดเงินสมทบที่ผู้ส่งออกต้องจ่ายให้กับประกันสังคมจาก 5% โดยจะขอลดอีก 1-3% ในช่วงที่เงินบาทผันผวน 
4. ขยายเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลที่นำเข้าเครื่องจักรมาปรับปรุงและนำระบบดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตมาช่วยในการจัดการธุรกิจ จากเดิม 3 ปี เป็นเวลา 5 ปีสำหรับการลงทุนในเครื่องจักรทุกประเภท ทั้งเครื่องจักรในประเทศและนำเข้า และขอให้นำมาหักค่าเสื่อมได้ 2 เท่า ของมูลค่าเครื่องจักรที่ลงทุน รวมถึงลดภาษีนำเข้า เครื่องจักรแขนกล  เหลือ 0-5% เป็นเวลา 1 ปี
ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสรท. กล่าวว่า ปัจจัยบวกเป็นผลดีต่อการส่งออกไทยปีนี้ มาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และประเทศคู่ค้าหลัก ราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และการปรับตัวของสินค้าที่เข้าสู่ระบบดิจิทัลและอี-คอมเมิร์ซมากขึ้น สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเร่งแก้ไขคือ ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ มาตรการกีดกันทางการค้าและมาตรการตอบโต้ของประเทศคู่ค้าที่เข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะนโยบาย America First และต้นทุนการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ รวมทั้งการขาดแคลนแรงงาน
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเริ่มถดถอย หลังเงินบาทแข็งค่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจที่ไม่พึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ โดยเฉพาะภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบมากสุด โดยตลอดทั้งปี 60 เงินบาทแข็งค่าไปแล้ว 11% และตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน เงินบาทแข็งค่าอีก 2.85% ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าแล้วพบว่า มีเพียงค่าเงินของสหภาพยุโรป (อียู) อังกฤษ และมาเลเซียเท่านั้นที่แข็งค่ากว่าเงินบาท นอกนั้นค่าเงินอ่อนกว่าเงินบาททั้งสิ้น ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันทางการค้า ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องหาแนวทางแก้ไข เช่น การเจรจากับคู่ค้าเรื่องการกำหนดค่าเงินที่จะใช้ชำระค่าสินค้า
ส่วนนายชัยชาญ เจริญสุข เลขาธิการ สรท. กล่าวว่า ปีที่ผ่านมา การส่งออกของไทยเติบโตจากการเกาะกระแสโลก แต่ปีนี้ต้องดูว่า ไทยยังสามารถเกาะกระแสการเติบโตได้อยู่หรือไม่ ภายใต้สถานการณ์เงินบาทแข็งค่า และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่น่าจะมีการทบทวนนโยบายใหม่แล้ว อย่างไรก็ดี กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น และการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำหลักๆ มีอยู่ 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มส่งออกข้าว กลุ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปมันสำปะหลัง และกลุ่มไก่สดแช่แข็งและแปรรูป