ทกท. พัฒนาระบบ e-Matching และ BKP Tracking นำ IT ลดต้นทุนโลจิสติกส์

0
226

กทท. ยกระดับการให้บริการพัฒนาระบบ e-Matching ผ่านทางระบบเชื่อมโยงของ กทท. กับกรมศุลกากร เพื่อลดขั้นตอนทางด้านเอกสารและยกเลิกเอกสารใบกำกับการเคลื่อนย้ายตู้สินค้า และแบบขอนำตู้สินค้าขาออกผ่านเข้าเขตรั้วศุลกากร ทกท. อำนวยความสะดวกให้กับผู้ส่งออก และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านโลจิสติกส์กับนานาประเทศได้มากยิ่งขึ้น

นายโกมล ศรีบางพลีน้อย ผู้อำนวยการท่าเรือกรุงเทพ เปิดเผยว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ร่วมกับกรมศุลกากร พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการบริหารจัดการการขนส่งตู้สินค้าขาออกผ่านเขตรั้วศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) และท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) เป็นการบูรณาการระหว่าง 2 หน่วยงาน เพื่อลดขั้นตอนการให้บริการและอำนวยความสะดวกในการดำเนินการด้านการค้าระหว่างประเทศ โดยเชื่อมโยงข้อมูลใบกำกับการขนย้ายสินค้าของกรมศุลกากร (Goods Transition Control) กับเอกสารแบบขอนำตู้สินค้าขาออกผ่านเข้าเขต ทกท. (ทกท.308.2 หรือ ใบ ช.) ผ่านระบบ National Single Window (NSW) และเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Matching) ในการตรวจปล่อยสถานะตู้สินค้าขาออก (Green /Red line) ผ่านทางระบบเชื่อมโยงระหว่าง กทท. กับกรมศุลกากร สามารถยกเลิกเอกสารในส่วนที่เกี่ยวข้อง ลดระยะเวลาและลดบุคลากร รวมทั้งลดระยะเวลาตรวจสอบตู้สินค้าขาออก ณ ด่านตรวจสอบสินค้า ประหยัดเวลาการจอดรอคิวของรถบรรทุก บรรเทาปัญหาการจราจร สามารถลดค่าใช้จ่ายและขั้นตอนในการดำเนินการ  ได้จริง เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการ และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ของประเทศ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวประกาศใช้อย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้  ทกท. ยังนำระบบการให้บริการตรวจสอบข้อมูลตู้สินค้าและเรือผ่าน Web Service (http:bkptracking.port.co.th:9080/apex/cap.zul) หรือ e-Tracking เพื่ออำนวยความสะดวกแก่เจ้าของเรือและเจ้าของตู้สินค้าในการตรวจสอบประวัติการเคลื่อนไหวของตู้สินค้าและเรือผ่านเข้า–ออกในเขตรั้วศุลกากร ทกท. ชนิดแบบ Real Time

สำหรับในอนาคต กทท. จะมีโครงการร่วมกับกรมศุลกากร และหน่วยงานอื่นๆ ในกระบวนการนำเข้าส่งออก มีแผนงานการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างหน่วยงานราชการ ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือ (Sea Port Community System : Sea PCS) เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการขนส่งและการประสานการกำกับของภาครัฐที่ท่าเรือ โดยจะเป็นระบบหลักในการตรวจสอบสถานะของสินค้าและตู้สินค้า การตรวจสอบเอกสารใบรับรอง (Certificate) และใบอนุญาต การทำธุรกรรมอื่นๆ รวมถึงกระบวนการขออนุญาตเคลื่อนย้ายหรือเข้า-ออกของสินค้าและตู้สินค้าผ่านท่าเรือในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการพัฒนาระบบตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป