อธิบดีทล.สั่งแก้ไขด่วนเพิงหมาแหงนโมเดิร์นทั่วประเทศ

0
522

อธิบดีกรมทางหลวง(ทล.)สั่งแก้ด่วนเพิงหมาแหนโมเดิร์นทั่วประเทศหลังประชาชนในหลายจังหวัดร้องเรียนใช้งานไม่ได้จริง ต่อเติมกันสาดหน้า-หลังปรับภูมิทัศน์รอบข้างให้ร่มรื่น ต้องสนองความต้องการของประชาชนเต็มที่ ลั่นเสร็จทั่วประเทศในภาย 3 เดือน

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง(ทล.) เปิดเผยถึงว่ากรณีการสร้างศาลาริมทางจุดจอดรถโดยสาร (Bus Stop) ทางหลวงหมายเลข 220 ตอนศรีษะเกษ-อ.วังหิน จ.ศรีษะเกษ ที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริงป้องกันแดดกันฝนไม่ได้ และเกิดปัญหาร้องเรียนตามมาอีกหลายจังหวัดนั้น เวลานี้ตนได้สั่งการให้แขวงทางหลวงในพื้นที่รับผิดชอบศาลาริมทางจุดจอดรถโดยสารที่เป็นรูปแบบ(สไตล์)โมเดิร์นแบบเพิงแหงนที่ก่อสร้างเสร็จปรับปรุงแก้ไขให้ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นเช่น ทำกันสาดเพิ่มเติมทั้งด้านหน้า ด้านหลัง เพื่อกันแดดกันฝน

รวมทั้งปรับปรุงพื้นที่โดยรอบให้ดูร่มรื่นขึ้นด้วยการปลูกต้นไม้ให้ร่มเงา ถ้าตำแหน่งอยู่กลางทุ่งนาการมีต้นไม้ให้ร่มเงาอาจเป็นเรื่องยาก ต้องปลูกต้นไม้หรือปรับภูมิทัศน์รอบข้างให้เหมาะสมเพิ่มร่มเงาให้ประชาชนที่เข้ามาใช้ประโยชน์ แต่ถ้าอยู่ในเขตเมืองมีร่มเงาของตึกรามบ้านช่องอยู่แล้วไม่มีปัญหา ทั้งนี้ศาลาฯไตล์โมเดิร์นแบบเพิงแหงนเริ่มก่อสร้างเมื่อ2 ปีก่อน ในหลายเส้นทางกำลังรวบรวมจำนวนที่แน่ชัด เพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น จะไม่รื้อออกให้เสียงบประมาณแน่นอน

ปัจจุบันมีศาลาริมทางหลวงฯ 20,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ บนโครงข่ายถนนทล. 3,000 กว่าเส้นทาง ระยะทางรวม 72,000 กม. ทั่วประเทศ กำลังให้แยกประเภทและจำนวนที่ชัดเจนเมื่อได้ข้อสรุปแล้วให้ออกแบบเพิ่มเติมในแต่ละแห่งเพื่อปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และสรุปงบฯที่ใช้ดำเนินการซึ่งไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และปัญหาโดยงบฯปรับปรุงแต่ละครั้งใช้ไม่มากนัก เพราะปรับปรุงเพิ่มเติมเท่านั้น

เมื่อได้ข้อสรุปพื้นที่ที่ต้องแก้ไขทั้งหมดแล้วคาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน3 เดือน จากนั้นมอบหมายแขวงทางหลวงในพื้นที่ดูแลต่อไป หากพบชำรุด ทรุดโทรม ใช้งานไม่สะดวก ต้องปรับปรุงอยู่ตลอดเวลาให้สามารถใช้งานได้

นายสราวุธ ย้ำอีกว่า ส่วนที่อยู่ระหว่างก่อสร้างให้ชะลอไว้ก่อนและให้ทบทวนพิจารณารูปแบบที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ก่อนดำเนินการรวมทั้งโครงการก่อสร้างในอนาคตต้องทบทวนพิจารณารายละเอียดรูปแบบการก่อสร้างให้ใช้งานได้ประโยชน์จริงและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่เช่นกัน

โดยต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ด้วย ถ้าพื้นที่เหมาะสมมีความกว้าง และปลอดภัยเพียงพอจะใช้รูปแบบศาลาทางหลวงแบบเดิม แต่ถ้าสภาพไม่เหมาะสมเขตทางไม่พอ คับแคบจะสร้างรูปแบบอื่นที่เหมาะสมและปลอดภัยแทน