“แรงบิด-แรงม้า”สำคัญไฉน?

0
195

เชื่อได้ใน 3 โลกเลยครับว่าท่านผู้อ่านทุกท่าน ผู้ที่ได้สถาปนาตัวเองว่า“มนุษย์”บนโลกๆใบนี้ ครั้งหนึ่งต้องเคยได้รับแจกโบชัวร์เกี่ยวกับสเปกรถ ที่พนักงานขายสาวๆสาวๆของค่ายรถต่างๆบรรจงแจกให้ท่านกับมือ ในขณะที่ท่านกำลังเดินทอดน่องยลโฉมรถพลางยักคิ้วทักทายพริตตี้หุ่นเซี๊ยะกันบ้างแล้วแหล่ะชิมิผมว่า!

เมื่อได้ลายแทงอย่างโบชัวร์อยู่ในอุ้งมือแล้ว ท่านเพ่งพินิจวิเคราะห์อย่างจริงจังที่บรรทัดไหนกันบ้าง หลายคนที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยเป็นที่หนึ่ง ก็ต้องจับจ้องรายละเอียดของระบบ Airbag,ABS หรือไม่ท่านที่คลั่งไคล้ด้านความสวยงาม ก็ต้องเพ่งที่เบาะหนัง,ไฟหน้าโปรเจคเตอร์,ไฟตัดหมอก เป็นต้น

แต่ท่านใดที่หลงใหลในด้านความเร็วและแรงที่เป็นจุดโฟกัสสมรรถนะเครื่องยนต์แล้วล่ะก็ เชื่อว่าทุกท่านต้องใส่ใจกันที่ “แรงม้า” เป็นแน่แท้!

แต่ช้าก่อน ข้าน้อยใคร่ขออนุญาตแนะนำให้ทุกท่านใส่ใจควบคู่กันไประหว่าง “แรงม้าและแรงบิด” หลังจากทำความเข้าใจอย่างถี่ถ้วนแล้ว จะได้รู้ว่าแรงบิดสำคัญกว่าแรงม้า และเผลอๆอาจจะเลิกดูแรงม้าไปเลยก็เป็นได้

แรงบิด (Torque) คือแรงหมุนของเพลาเครื่องยนต์ เป็นแรงที่ใช้เพื่อส่งกำลังของเครื่องยนต์ไปหมุนเกียร์ เพลาและ ล้อ เพื่อให้รถเคลื่อนที่ไปได้ แรงบิดจะมีค่าแตกต่างกันไปที่ความเร็วรอบเครื่องยนต์ต่างๆ รถที่ใช้เครื่องยนต์ที่มีแรงบิดสูงก็จะมีอัตราเร่งดีกว่ารถที่ใช้เครื่องยนต์ที่มีแรงบิดต่ำกว่า พูดง่ายๆและฟังง่ายๆ ก็คือ แรงบิดจะเป็นตัวบ่งชี้ว่ารถคันใดเร่งดีกว่าอีกคัน เช่น รถคันแรกมีขุมกำลัง 170 แรงม้าที่ 4,500 รอบ แรงบิด 375 Nm(นิวตัน-เมตร) ที่ 2,000 รอบ

ส่วนคันที่สองมี 150 แรงม้า แรงบิด 375 Nm ที่ 1,500 รอบ ถามว่ารถคันแรกหรือคันที่สองมีอัตราเร่งดีกว่ากัน คำตอบก็คือรถคันที่สองดีกว่า (ในกรณีที่อัตราทดเกียร์เหมือนกันด้วยนะครับ)เพราะแรงบิดสูงสุดมาที่รอบต่ำกว่า แม้ว่าจะมีแรงบิด 375 Nm เท่ากันและแรงม้าคันแรกมีมากกว่าอยู่ 20 ตัวก็ตาม รถคันแรกไม่มีทางไล่รถคันที่สองทัน อัตราเร่ง 0-100 คันที่สองก็ใช้เวลาน้อยกว่า จับมาอัดกัน0-400เมตร คันที่สองก็อยู่หน้าคันแรกอยู่ดี

แรงม้า (HorsePower) คือ หน่วยใช้วัดกำลังของเครื่องยนต์ อาจจะเป็น แรงม้า (HP) หรือกิโลวัตต์ (kW) [1 แรงม้า = 0.746 kW]  แรงม้าสูงสุด จะอยู่ที่ความเร็วรอบสูงกว่าความเร็วรอบที่มีแรงบิดสูงสุดเสมอ ดังที่กล่าวไปแล้วว่าแรงบิดของเครื่องยนต์เป็นตัวชี้วัดอัตราเร่ง ส่วนแรงม้าของเครื่องยนต์ก็จะเป็นบ่งชี้ถึงความเร็วสูงสุดของรถที่เครื่องยนต์จะลากไปได้ซึ่งหมายถึงความสามารถในการเอาชนะแรงเสียดทาน และแรงต้านของอากาศที่จะมีมากขึ้นเป็นทวีคูณ (อัตราความเร็วยกกำลังสอง) เครื่องยนต์ที่มีแรงบิดสูงสุดที่รอบต่ำจะมีแนวโน้มที่จะมีแรงม้าสูงสุดต่ำกว่า เครื่องยนต์ที่มีแรงบิดสูงสุดที่รอบสูงกว่า

รถที่ใช้เครื่องยนต์ที่มีแรงบิดสูงสุดในรอบเครื่องต่ำ หรือปานกลางจะออกตัวได้ดีกว่าและให้อัตราเร่งที่ดีกว่า ในช่วงความเร็วต่ำหรือความเร็วปานกลาง ในขณะที่รถที่ใช้เครื่องยนต์ที่มีแรงบิดสูงสุดในรอบเครื่องสูง จะให้อัตราเร่งที่ดีกว่าในช่วงความเร็วสูง และมีแนวโน้มที่จะให้ความเร็วสูงสุดที่สูงกว่า (ดูในเรื่องแรงม้า) แต่ในการออกตัวหรือในช่วงที่ใช้ความเร็วต่ำสมรรถนะจะด้อยกว่า

หรือที่มักเรียกกันว่า “ต้องรอรอบ”เครื่องยนต์ที่มีแรงบิดสูงสุดที่รอบเครื่องต่ำมักเหมาะกับรถเก๋งที่ใช้งานในเมือง รถบรรทุก รถขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่ใช้งานในป่าหรือที่ทุรกันดาร ส่วนเครื่องยนต์ที่มีแรงบิดสูงสุดที่ความเร็วรอบสูงจะเหมาะกับรถที่ใช้เดินทางไกลบ่อยๆ ต้องการอัตราเร่งที่ดีที่ความเร็วสูง

ส่วนแรงม้าสูงสุดจะอยู่ที่ความเร็วรอบสูงกว่าความเร็วรอบที่มี แรงบิดสูงสุดเสมอจากที่แรงบิดของเครื่องยนต์จะแสดงถึงอัตราเร่ง แรงม้าของเครื่องยนต์ก็จะแสดงถึงความเร็วสูงสุดของรถ ซึ่งหมายถึงความสามารถในการเอาชนะแรงเสียดทาน และแรงต้านของอากาศ ที่จะมีมากขึ้นเป็นทวีคูณ (อัตราความเร็วยกกำลังสอง)เมื่อความเร็วสูงขึ้น จากสูตรคำนวณแรงม้าจะเห็นได้ว่าสำหรับเครื่องยนต์ที่มีขนาดเท่าๆ กัน เครื่องยนต์ที่มีแรงบิดสูงสุดที่รอบต่ำจะมีแนวโน้มที่จะมีแรงม้าสูงสุด ต่ำกว่าเครื่องยนต์ที่มีแรงบิดสูงสุดที่รอบสูงกว่า

แต่ถ้าต้องการให้มีทั้งแรงบิดและแรงม้ามากขึ้น ก็จะต้องเป็นเครื่องยนต์ที่มีเทคโนโลยีสูงกว่า หรือเป็นเครื่องยนต์ที่มีขนาดใหญ่กว่า หรือมีการติดตั้งอุปกรณ์อื่นเพิ่ม เช่น Turbocharger Supercharger ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่าราคาของเครื่องยนต์จะสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงก็จะสูงขึ้น และมักจะต้องจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิงมากขึ้นอีกด้วย

เห็นไหมล่ะครับว่าแรงบิด (Torque) และแรงม้า (Horse Power) มีความสำคัญและแตกต่างกันอย่างไร เมื่อท่านได้เข้าใจอย่างถ่องแท้แล้ว ก็สามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์เปรียบเทียบเครื่องยนต์แต่ละรุ่นได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์เหลือคณานับในการพิจารณาเลือกรถที่เหมาะสมกับลักษณะงานขนส่งของทุกท่าน

:ลมใต้ปีก