ตัดเกรดรัฐลงทุนเร่งด่วนด้านคมนาคมปี 60 (แค่)สอบผ่าน…ลุ้นตัวโก่งล้างท่อปี 61

0
192

หลังฉายหนังตัวอย่างเรียกเรทติ้งทันทีเปิดม่านฟ้าปีศักราชใหม่ 2560 เกี่ยวกับกับลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วนปี 2560 (Action Plan) ปูพรมลงทุนอย่างทะลุทะลวงรวม 36 โครงการครอบคลุมทั้งระบบราง บก น้ำ และอากาศ วงเงินเฉียด 9 แสนล้านบาท หวังเสกปีไก่ให้เป็นปีไก่ทองสนองเดชด้านการก่อสร้าง ตลอดถึงการขยายอานิสงส์ให้ห่วงโซ่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่นๆได้พึ่งพาใบบุญ

พอหนังฉายจริงใกล้จะจบเรื่องกลับทำเอาคอหนังบู๊แอคชั่นผิดหวังไปตามๆกัน พร้อมกับถูกตั้งคำถามแทงใจดำรัฐบาลเข้าเต็มเปาว่าไหนบอกจะปูพรมลงทุนสุดลิ่มทิ่มประตูตามแบบฉบับ “เร็ว แรง ทะลุนรก” แต่เอาเข้าจริงแล้วเมกะโปรเจ็กต์ที่รัฐบาลยกให้เป็น “พระเอก”ในเรื่องกลับแสดงไม่สมบทบาทให้สมจริงสมจัง หรือแม้แต่เมกะโปรเจ็กต์ในระดับ “พระรอง”ก็พากันหลุดเฟรมระนาว

กับความหวังจะปั้นให้เป็นปีทองการก่อสร้าง ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ดูเหมือนจะเป็นได้แค่ “ความฝันสีจางๆ” หรือไม่? 

Logistics Time ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว

“หลังได้เห็นรัฐบาลประกาศปีนี้ให้เป็นปีแห่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเร่งด่วน ประจำปี 2560 (Action Plan) ส่วนตัวผมเองก็ค่อนข้างมองโลกในแง่ดีและเห็นด้วยกับแนวนโยบายดังกล่าว ความเป็นจริงการลงทุนมันมีความล่าช้าที่เกิดขึ้นในบางโครงการอยู่แล้วเป็นเรื่องปกติ ซึ่งมันก็ไม่ใช่ความผิดของคนทำงานร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะที่ล่าช้าผมมองว่าเป็นความล่าช้าเชิงระบบ หากจะให้ผมประเมินการลงทุนภาครัฐตาม Action Plan 2560  ผมน่าพอใจมาก” ปรารภแรกที่ดร.สุเมธ องกิตติกุล ได้เผยมุมมองกับ Logistics Time

รถไฟทางคู่สะดุด/ไฮสปีดเทรนไทย-จีน “ช้ายังดีกว่าไม่มา”

ดร.สุเมธ ระบุต่อว่า ที่บอกพอใจมากนั้น พอใจส่วนไหนบ้าง อย่างแรกคงเป็นการก่อสร้างรถไฟฟ้าหลากสีในกรุงเทพฯและปริมณฑล เรียกได้ว่าเป็นการดำเนินไปตามแผนเกือบจะทุกสายทางระดับหนึ่ง แต่อาจมีการล่าช้าในส่วนของการก่อสร้างบ้าง แต่โดยรวมอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ

“ส่วนการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เบื้องต้นผมคาดหวังว่าจะเร็วกว่านี้ ดูเหมือนว่าจะมีการเร่งรัดในช่วงแรก แต่ผู้เข้าประมูลไม่ค่อยเยอะมาก การแข่งขันน้อย ทำให้ราคาก่อสร้างอาจจะไม่ได้ตามความตั้งใจไว้ จนมีการปลดผู้ว่ารถไฟฯและมีการตั้งซูเปอร์บอร์ดขึ้นมาใหม่ จึงทำโครงการทั้งหมดชะงักและเกิดความล่าช้าบ้าง แต่ตอนนี้ก็ได้ผู้รับเหมาก่อสร้างในหลายสัญญาไปบ้างแล้ว”

ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯนครราชสีมานั้น ดร.สุเมธ บอกว่าผมมองตั้งแต่ต้นปีแล้วล่ะว่ายังไงปีนี้โครงการนี้ก็เกิดขึ้นยาก แต่ล่าสุดรัฐบาลก็ประกาศแล้วจะมีการก่อสร้างจริงกลางเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งก็น่าจะเป็นสัญญาณเชิงบวกว่าโครงการนี้รัฐบาลเอาจริงเอาจังและต้องการให้เกิดขึ้นได้ในรัฐบาลชุดนี้ ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งเขาก็บอกชัดแล้วยังอยู่ในขึ้นตอนการศึกษาคาดจะมีการลงทนจริงในปีหน้าหรือถัดไป\

“แต่หากถามถึงความคุ้มค่าในการลงทุนแล้วทั้งสองโครงการก็ยังเป็นคำถามอยู่ เรื่องนี้รัฐบาลต้องแสดงความชัดเจนให้มากขึ้นว่ามันคุ้มค่าด้านไหน อย่างไรบ้าง ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างไร และภาระทางการเงินในอนาคตจะเป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่น่าจับตามอง”

แนะปฏิรูปองค์กรม้าเหล็กไทย รองรับโครงข่ายระบบราง

นอกจากนี้ ดร.สุเมธ ได้สะท้อนมุมมองเกี่ยวกับการปฏิรูปการรถไฟฯว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด ก็หนีไม่พ้นการบริหารจัดการรถไฟฯ ซึ่งปัญหาอยู่ที่การปฏิรูป รฟท.ยังไม่เห็นภาพชัดเจน และเป็นปัญหาที่ถูกสังคมตั้งคำถามมาโดยตลอด เมื่อการก่อสร้างทางคู่แล้วเสร็จในอนาคต ปัญหาที่จะเกิดตามมาก็น่าจะเป็นเรื่องของ ทำอย่างไงรฟท.จะขยายผลหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหารจัดการอย่างไร ให้ตอบรับกับผลการลงทุนให้มากขึ้นในอนาคต

“เมื่อมีการลงทุนขยายรถไฟทางคู่เพิ่มมากขึ้น คำถามแล้วการรถไฟฯจะเพิ่มมิติการบริหารจัดการยังไง จะให้เอกชนมาร่วมลงทุนไหม หรือเปิดกว้างให้เอกชนเข้ามาร่วมเดินรถได้หรือไม่ หรือยังให้การรถไฟฯยังเป็นผู้เดินรถอยู่ แล้วจะเดินรถในรูปแบบใด เงินลงทุนมาจากไหน คุ้มไม่คุ้ม ค่าโดยสาร ค่าระวางจะจัดเก็บกันอย่างไร ทั้งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญ อย่าลืมว่าเมื่อทางคู่ทั้งหมดสร้างเสร็จ แต่การบริหารจัดการของการถไฟฯยังไม่สามารถแสดงถึงศักยภาพและประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็นแล้ว ไม่ปรับโครงสร้างให้รองรับกับดีมานด์ในอนาคต ผมมองว่าน่าเป็นห่วงมากเกรงว่าจะกลายเป็นทางคู่ที่ไม่มีรถไฟวิ่ง อุตส่าห์ลงทุนสร้างทางครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค สุดท้ายแล้วไม่มีผู้มาใช้”

การรถไฟฯ ต้องปรับโครงสร้าง/เปิดกว้างเอกชนร่วมลงทุน

ทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้ความรู้สึกคนที่มองการถไฟฯในแง่ลบกลับมาเป็นบวกให้ได้ ง่ายๆเลยว่าทำยังไงทางคู่สร้างเสร็จแล้วสังคมมองได้ว่าการรถไฟฯมีการบริการที่ดี มีการขนส่งสินค้าได้ตามปริมาณที่ต้องการ ค่าระวางสินค้าที่แข่งขันได้กับการบริการขนส่งอื่นๆได้ ค่าโดยสารก็ไม่จำเป็นต้องถูก แต่สามารถแข่งขันได้กับรูปแบบการเดินอื่นๆได้ ไม่ว่าจะเป็นรถตู้ รถโดยสารประจำทาง หรือแม้แต่โลว์คอส์ตแอร์ไลน์ แต่สิ่งที่จะสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้ก็คือว่าเมื่อลงทุนเสร็จแล้วเราจะได้การรถไฟฯที่ดีสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน

“ก็มีอยู่ 2 แนวทางที่การถไฟฯต้องทำ อย่างแรกก็ต้องเป็นเรื่องของการขยายหรือปรับโครงสร้างของการรถไฟฯ อย่างที่สองต้องเปิดกว้างให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน เหมือนรถไฟฟ้ารัฐทำไม่ไหวก็เปิดกว้างให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP ซึ่งจะรูปแบบไหนการรถไฟฯต้องเร่งสร้างความชัดเชนมากกว่านี้ เพราะเวลาไม่รอแน่นอน ทางคู่เดินหน้าก่อสร้างไปแล้ว เมื่อสร้างเสร็จแล้วไม่มีคนใช้จะทำยังไง”

อย่างไรก็ดี ดร.สุเมธ กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่าส่วนด้านอื่นๆเช่นมอเตอร์เวย์ก็เริ่มการก่อสร้างไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางบางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี ส่วน EEC เข้าใจว่าหลังการปรับครม.ล่าสุดมีการปรับเอาผู้มีความชำนาญการเข้ามาบริหารจัดการและเดินเครื่องในเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ ซึ่งน่าจะอยู่ในกรอบการลงทุนและเห็นเป็นรูปธรรมในปีหน้า ซึ่งเรื่องนี้ผมมองว่ารัฐบาลรู้ดีถึงความต้องการของภาคเอกชนที่จะมาลงทุน รู้ดีว่าภาคประชาชนต้องการอะไร เข้าใจว่ารัฐบาลจริงจังและเร่งผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรม ก็ต้องให้เวลากับรัฐบาล และก็ต้องจับตาพิเศษว่าสุดท้ายรัฐบาลาจะเร่งเครื่องได้มากน้อยแค่ไหนในปีถัดไป

บทสรุปแล้วแม้รัฐบาลจะพอสอบผ่านไปได้ แต่ก็ยังถูกรุมเร้าด้วยปัญหาและอุปสรรคอีกบาน และต้องลุ้นตัวโก่งล่ะว่าปีหน้ารัฐบาลจะเร่งล้างท่อโครงการที่ล่าช้า และเร่งสปิดโครงการที่เดินหน้าไปบ้างแล้วให้เดินเครื่องคงเส้นคงวาต่อไปได้หรือไม่

….หรือมีโครงการใหม่ๆเพื่อเติมเต็มการลงทุนเรียกศรัทธาและความเชื่อมั่นได้สักกี่มากน้อย!