บ้านปู เพาเวอร์ฯเผยผลประกอบการไตรมาส 3 กวาดกำไร 1.2 พันล้าน

0
123
บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ผู้นำธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากทั้งพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป (Conventional Power Generation) และพลังงานหมุนเวียน (Renewable Power Generation) ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 3/2561 ว่า มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) ที่ 1,249 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อนหน้า ขณะที่กำไรสุทธิคิดเป็น 940 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อนหน้า กำไรส่วนหลักเพิ่มขึ้นจากประสิทธิภาพในการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าหงสาที่สามารถรักษาระดับอัตราการจ่ายไฟ (Equivalent Availability Factor: EAF)  ได้สูงกว่าร้อยละ 80 มาโดยตลอด สะท้อนถึงการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ
นายสุธี สุขเรือน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า “บ้านปู เพาเวอร์ฯ เดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเรามีกำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนของโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปและพลังงานหมุนเวียนที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) รวม 2,129 เมกะวัตต์เทียบเท่า เรามุ่งหน้าสู่เป้าหมายกำลังผลิต 4,300 เมกะวัตต์เทียบเท่า โดยมีพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ภายในปี 2568 อย่างต่อเนื่อง สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของเราเติบโตขึ้นจากการลงทุนในโครงการใหม่ๆ อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนาม รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ที่จะทยอย COD จนครบภายในปี 2566 สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบ้านปู เพาเวอร์ฯ ในการสร้างความเติบโตตามกลยุทธ์ Greener”
ในไตรมาส 3/2561 บ้านปู เพาเวอร์ฯ รายงานรายได้รวม 1,206 ล้านบาท จากธุรกิจไฟฟ้าในสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมจำนวน 1,011 ล้านบาท และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 195 ล้านบาท ซึ่งลดลงร้อยละ 9 เทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อนหน้า เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าและไอน้ำที่ลดลงและราคาต้นทุนถ่านหินในจีนที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดีบริษัทฯ ยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไร 1,076 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อนหน้า โดยส่วนหลักมาจากโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีจำนวน 297 ล้านบาท (รวมผลบวกจากภาษีเงินได้รอตัดบัญชี 95 ล้านบาท และผลขาดทุนจากการแปลงค่าเงินทางบัญชี 88 ล้านบาทแล้ว) ลดลงร้อยละ 24 เทียบกับปีที่ผ่านมา อันเป็นผลจากการปิดซ่อมบำรุงตามแผนของหน่วยผลิตที่ 1 ทั้งนี้การปิดซ่อมบำรุงตามแผนของหน่วยผลิตที่ 2 ยังคงเป็นไปตามแผนโดยจะเสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคม 2561 และโรงไฟฟ้าหงสาจำนวน 756 ล้านบาท (รวมผลขาดทุนจากการแปลงค่าเงินทางบัญชี 173 ล้านบาทแล้ว) เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 เทียบกับปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากความสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องด้วยค่า EAF ร้อยละ 84 แม้จะมีการปิดซ่อมบำรุงตามแผน
ในช่วงระยะเวลา 9 เดือนที่ผ่านมา บ้านปู เพาเวอร์ฯ ดำเนินการ COD โรงไฟฟ้าเพิ่มเติมจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ส่วนขยายโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมหลวนหนาน (Luannan) ระยะ 2 ในจีน และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มุกะวะในญี่ปุ่น นอกจากนี้ในเดือนธันวาคม 2561โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นาริไอสึจะ COD เพิ่มอีกหนึ่งแห่งตามแผน ทั้งนี้หากนับรวมทั้งหมด ปัจจุบันบริษัทฯ มีโรงไฟฟ้าและโครงการที่อยู่ในระหว่างการพัฒนาจำนวน 28 แห่ง ในประเทศไทย สปป.ลาว จีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม คิดเป็นกำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนรวม 2,869 เมกะวัตต์เทียบเท่า ภายในปี 2566 โดยในจำนวนนี้แบ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปและพลังงานหมุนเวียนกำลังผลิตรวม 740 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทยอย COD จนครบภายในปี 2566 พร้อมสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนร้อยละ 10
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2561 รัฐบาลเวียดนามได้ประกาศอัตราการรับซื้อไฟจากพลังงานลมเพิ่มขึ้นจากเดิม 7.8 เซนต์ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงเป็น 2 อัตรา ได้แก่ 8.5 เซนต์ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานลมแบบบนชายฝั่งทะเล (On-shore) และ 9.8 เซนต์ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานลมแบบนอกชายฝั่งทะเล (Off-shore) ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อผลตอบแทนของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมของบ้านปู เพาเวอร์ฯ ในระยะยาว
“บ้านปู เพาเวอร์ฯ ยังคงมุ่งมั่นแสวงหาโอกาสทางการลงทุนทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปและพลังงานหมุนเวียนในประเทศที่มีศักยภาพและประเทศที่เรามีธุรกิจอยู่ โดยเฉพาะเวียดนามที่เราได้ก้าวเข้าไปลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม และยังมีโอกาสสำหรับการลงทุนอื่นๆ เพิ่มเติมทั้งในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปและพลังงานแสงอาทิตย์ เมื่อประกอบกับสถานะการเงินที่แข็งแกร่งและอัตราหนี้สินต่อทุนที่อยู่ในระดับต่ำ จึงมั่นใจได้ว่าบริษัทฯ มีศักยภาพในการแข่งขันและสามารถพัฒนาโครงการได้อย่างราบรื่น เพื่อสร้างการเติบโตพร้อมผลตอบแทนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน” นายสุธี กล่าวปิดท้าย