คลี่นโยบาย(พลัง)ประชารัฐ ลด แลก แจก แถม… No free Lunch…โลกนี้ไม่มีอะไรได้มาฟรี!

0
496

เกินกว่า “ฟรอยต์ (ซิกมุนด์ ฟรอยต์)” จะจินตนาการจริงๆ!

กับเรื่องที่รัฐบาล “ซานต้าตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังปูพรมมาตรการลดแลก แจกแถมประเคนเงินก้นถุงให้ประชนคนไทยกันแทบจะสำลัก ! 

ไอ้ที่เคยก่นด่ารัฐบาลประชานิยมในอดีตเขาเอาไว้อย่างหนักหน่วงประเภทเอะอะก็งัดนโยบาย “ประชานิยม” หว่านเงินซื้อเสียงรากหญ้าจนทำเอาชาวประชาแทบจะเป็นเป็ดง่อยทำอะไรไม่เป็นนั้น มาวันนี้ “ซานต้าตู่” กลับจัดหนักชนิดที่ทำเอาต้นฉบับประชานิยมได้แต่ “อึ้งกิมกี่”  

โดยนับตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้เริ่มนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ “บัตรคนจน” เปิดให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยลงทะเบียนรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั่วประเทศไปเมื่อกลางปี 2560 โดยมีผู้ผ่านเกณฑ์ได้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐในเฟสแรกไป 11.67 ล้านคน จนถึงปัจจุบันที่ทะลักขึ้นมาเป็น 14.5 ล้านคนนั้น รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณลงไปกับมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในระดับรากหญ้าทว่านี้ไปแล้วกว่า 120,000 ล้านบาท

ไล่ดะมาตั้งแต่เฟสแรกที่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐประเดิมรับวงเงินสำหรับซื้อสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ 200-300 บาท/คน/เดือน ขึ้นอยู่กับรายได้ของผู้ถือบัตร โดยหากรายได้น้อยกว่า 30,000 บาท/ปี จะได้วงเงินทั้งสิ้น 300 บาท/เดือน แต่ถ้ารายได้เกิน 30,000 บาท แต่ไม่ถึง 100,000 บาท/ปี จะได้วงเงินสำหรับซื้อสินค้าทั้งสิ้น 200 บาท/เดือน ยังไม่รวมเงินผู้สูงอายุหรือเงินผู้พิการอีกคนละ 500-800 บาท/เดือน

นอกจากนี้ ยังมีการให้ส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม 45 บาท/3 เดือน และค่าเดินทางขนส่งสาธารณะต่างๆ อย่างละ 500 บาท/เดือนด้วย ทั้งหมดนี้ทำให้โครงการบัตรคนจนในเฟสแรกถลุงงบประมาณไปรวมทั้งสิ้น 41,940 ล้านบาท

จากนั้นรัฐบาลได้เข็นโครงการต่อยอดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในเฟส 2 ที่ม่งหวังจะให้ผู้มีรายได้น้อยได้ฝึกอาชีพ ฝึกอบรมจะได้สามารถช่วยเหลือตนเองได้ผ่านโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลและกระทรวงการคลังเข็นออกมาเป็นกุรุดถึง 34 โครงการ อาทิ การฝึกอบรมอาชีพและการศึกษา การเข้าถึงแหล่งทุนในระบบ และด้านการเข้าถึงสิ่งจำเป็นพื้นฐาน โดยมีมาตรการสำคัญ คือ การเพิ่มวงเงินซื้อสินค้าในบัตรคนจนอีก 100-200 บาท/คน/เดือน ขึ้นอยู่กับระดับรายได้ แต่โดยสรุปแล้วโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในเฟส 2 นี้ใช้งบประมาณไปอีกกว่า 35,679 ล้านบาท

ก่อนที่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 61 หลังการเปิดตัว “พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)” ที่มีเป้าหมายจะหนุน พลเอกประยุทธ์ เป็นแคนคิเดทนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย รัฐบาลก็อนุมัติเงินงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในเฟส 3 นี้อีกกว่า 38,730 ล้านบาท เพื่ออุดหนุนผู้ถือบัตรทั่วประเทศที่เพิ่มขึ้นเป็น 14.5 ล้านคน โดยจะอุดหนุนค่าน้ำประปา 100 บาท/ครัวเรือน/เดือน และค่าไฟฟ้า 230 บาท/ครัวเรือน/เดือน ให้ผู้ถือบัตรไปอีก 10 เดือน ทั้งยังมอบ “ของขวัญปีใหม่” เป็นเงินก้นถุงให้อีก 500 บาทโดยไม่มีที่มาที่ไปอะไรอีกด้วย

ล่าสุด กระทรวงการคลังยังเตรียมแจกซิมอินเทอร์เน็ตแก้จนมูลค่า 50 บาท/ เดือน ให้ผู้ถือบัตรเป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งเมื่อคำนวณจากฐานผู้ถือบัตร 14.5 ล้านคนแล้ว ก็คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณอีกกว่า 4,200 ล้านบาท เบ็ดเสร็จถลุงเม็ดเงินรายจ่ายรัฐไปกว่า 120,000 ล้านบาท

ทั้งหลายทั้งปวงนั้น ยังไม่รวมนโยบายประชารัฐที่รัฐบาลและกระทรวงการคลังจัดหนักจัดเต็มออกมาอีกเป็น “กุรุด” โดยเฉพาะการปลุกผี “ช็อปช่วยชาติ” ให้ผู้คนจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้า 3 ประเภท คือ ยางรถยนต์ หนังสือและ e-Book และสินค้าโอท็อป ภายในช่วง 15 ธันวาคม 61- 15 มกราคม 62 จะสามารถนำรายจ่ายมาลดหย่อนภาษีได้ถึง 15,000 บาท และแจกอั่งเปารับตรุษจีนก่อนการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 ที่ให้คืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) 5% ให้ประชาชนที่ใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตผูกบัญชีพร้อมเพย์ ในวงเงินไม่เกิน 20,000 บาท ตั้งแต่ 1-15 กุมภาพันธ์ 2562 โดยจะได้รับการคืนภาษีแวต 5% สูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท ที่คาดว่าจะมีผู้ได้รับอานิสงส์จากมาตรการนี้อีกไม่น้อยกว่า 10-20 ล้านคน โดยรัฐคาดว่าจะสูญเสียรายได้สำหรับมาตรการนี้อีกไม่น้อยกว่า 5-6 พันล้านบาท

แม้รัฐบาลจะยืนยันนั่งยันว่า มาตรการที่ดำเนินการไปทั้งหมดไม่ใช่การหาเสียง หรือมัดจำล่วงหน้าแต่เป็นโครงการต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผู้มีรายได้น้อย แต่ก็ยากจะปฏิเสธ ในเมื่อพฤติกรรมที่เคยก่นหาเขาไว้อย่างไรนั้น วันนี้รัฐบาลกลับจัดหนักจัดเต็มมากกว่าเป็นทวีคูณ!

อย่างไรก็ตาม บรรดามาตรการลดแลกแจกแถม ประเคน “เงินก้นถุง” ให้ประชาชนคนไทยจนแทบจะสำลักเหล่านี้ ในทางเศรษฐศาสตร์แล้ว สิ่งเหล่านี้ ”ไม่ใช่ของฟรี” หรือ No Free Lunch อย่างที่เราเข้าใจกัน

แต่ทุกอย่างมีรายจ่าย และต้องมี “คนจ่าย” ด้วยกันท้ังสิ้น !!!

ดังวลีเด็ดทางเศรษฐศาสตร์ No Free Lunch ที่  Milton Friedman นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบิลเลื่องชื่อเขียนเอาไว้ และ รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีกิตติคุณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต อดีตรมช.กระทรวงศึกษาธิการ หยิบยกเอามาเขียนเป็นตำรับตาราว่า ด้วยเศรษฐศาสตร์แบบชาวบ้านไม่รู้กี่เวอร์ชั่นมาแล้ว  

แต่มันคือความเป็นจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้เมื่อมีคนได้ (Take) มันต้องมีคนเสีย/จ่าย (Lost) แม้แต่อากาศธานอันบริสุทธิ์เรายังต้องลงทุนลงแรงอนุรักษ์รักษาสิ่งแวดล้อมมันถึงจะได้มา หรือหากจะให้ผู้คนรักและชื่นชมก็ต้องโปรยยิ้มพูดตาไพเราะเสนาะหูมันถึงจะได้ความรักตอบ ไปจ้อหน้าทีวีทุกคืนวันศุกร์กระโชกโฮกฮาก ด่ากราดเขาไปทั่วแบบนี้อีกสิบชาติก็ไม่มีวันได้รักจากใครเขา

“นโยบายประชานิยม” ในอดีต หรือ “นโยบายประชารัฐ” ที่รัฐบาลปัจจุบันกำลังเดินตามและจัดหนักเสียยิ่งกว่าต้นฉบับนั้นก็เช่นกัน สิ่งที่ประเคนให้ประชาชนคนไทยจนแทบจะสำลักกันออกมานั้น สิ่งเหล่านี้ล้วนต้องมีคนจ่ายครับ ซึ่งก็คือ “เม็ดเงินภาษี” ของประชาชนคนไทยเราเองนั่นแหล่ะ!

หากทุกฝ่ายจะได้ย้อนกลับไปพิจารณาการดำเนินนโยบายของรัฐบาลชุดแล้วชุดเล่า เราจะเห็นได้ว่า ในขณะที่รัฐบาล “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” ถลุงเม็ดเงินภาษีไปกับนโยบายประชานิยมแบบฉาบฉวยโครงการแล้วโครงการเล่า สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลทุกชุดมักจะดำเนินการควบคู่มาด้วยก็คือ การปรับขึ้นภาษี หรือค่าบริการสาธารณูปโภค สาธารณูปการต่าง ๆ ที่ล้วนเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้คน หรือไม่ก็หาทางผลักภาระภาษีหรือค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไปให้กลุ่มคนที่ยังพอจะแบกรับได้โอบอุ้มหรือแบกรับ!

บรรดาค่าครองชีพที่รัฐละเลงไปให้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะเม็ดเงินซื้อสินค้ารายเดือนๆ ละ 200+300 หรือ 500 บาท ค่ารถเมล์  รถไฟ  บขส. ค่าไฟฟ้า ประปา ส่วนลดราคาน้ำมัน 3 บาท ฯลฯ สุดท้ายแล้วก็ไม่พ้นลงเอยด้วยการปรับขึ้นภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย ภาษีบาป หรือภาษีนำเข้า ภาษีสรรพสามิต ภาษีเหล้า เบียร์ บุหรี่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สถานบันเทิง สถานบริการ ร้านอาหารทั้งหลายแหล่ การปรับภาษีสรรพสามิตรถยนต์ รวมทั้งการหวนกลับไปปรับขึ้นค่าธรรมเนียมต่างๆ

แม้แต่ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่แฝงอยู่กับราคาสินค้าและบริการที่ประชาชนคนไทยต้องซื้อที่ร่ำๆ จะปรับขึ้นเป็น 10% มานานแต่รัฐบาลต้องกัดฟันตรึงเอาไว้ที่ 7% เพื่อไม่ทำให้คนไทยต้อง “ช็อคตาตั้ง” กันท้ังประเทศนั้น สุดท้ายแล้วหากรัฐจนปัญญาจะหาเม็ดเงินมาให้ถลุงก็ไม่พ้นจะต้องลงเอยด้วยการปรับขึ้นภาษีนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ทั้งหมด มันคือบทสะท้อนที่ชี้ให้เห็นว่า “โลกนี้ไม่มีอะไรได้มาฟรี There’s no free lunch”นั่นแหล่ะครับ เมื่อมีผู้รับหรือคนได้ก็ต้องมีคนจ่ายและคนที่จ่ายเป็นคนสุดท้ายที่เรียกว่า “เจ้าภาพ” นั้นก็คือประชาชนคนไทยเราเองนั่นแหล่ะ!!!