การรถไฟฯเร่งก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง(กรุงเทพฯ-โคราช)หวังเปิดบริการตามปี70

0
46

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมาว่า ตามที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้การรถไฟฯ โดยนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เร่งรัดติดตามการก่อสร้าง รวมถึงแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนงานที่วางไว้ภายในปี 2570

ล่าสุด โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ -นครราชสีมา ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถึงสถานีปลายทางนครราชสีมา ระยะทางรวม 250.77 กิโลเมตร  มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2566  ในส่วนแผนก่อสร้างงานโยธา 14 สัญญา ซึ่งเริ่มก่อสร้างไปตั้งแต่เมื่อปี 2560 จนถึงปัจจุบัน ได้ก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้ว 1 สัญญา อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 10 สัญญา และยังไม่ลงนาม 3 สัญญา  โดยมีรายละเอียด ดังนี้

• ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา คือ ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม.

• อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 10 สัญญา ได้แก่ 1.ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. ผลงาน 97.88 %  2.งานอุโมงค์มวกเหล็ก และลำตะคอง ระยะทาง 12.23 กม.  ผลงาน 11.42 % 3.ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 26.10 กม.ผลงาน 18.63 %  4.ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กม.ผลงาน 47.54 %  5.ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กม. ผลงาน 3.40 % 6.ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.80 กม.ผลงาน 0.13 % 7.ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. ผลงาน 6.40 % 8.ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย ผลงาน 0.04 %  9.ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.60 กม. ผลงาน 0.20 % และ 10.ช่วงสระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.99 กม. ผลงาน 34.04 %

• ส่วนที่ยังไม่ลงนาม 3 สัญญา ได้แก่  1.ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. 2.ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม.  และ 3.ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กม. 

นอกจากความก้าวหน้างานด้านโยธาแล้ว ปัจจุบันการรถไฟฯ ยังได้เร่งรัดการดำเนินงานด้านอื่นควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้โครงการสามารถเสร็จสิ้นได้ตามแผน  โดยมีการดำเนินงานต่างๆ ดังนี้  

• งานเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีสัญญาที่ได้รับผลกระทบจำนวน 11 สัญญา จากทั้งหมด 14 สัญญา ล่าสุดราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป มีกำหนดระยะเวลา 4 ปี โดยขณะนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่เริ่มต้นเข้าสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่ภายในแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนให้การรถไฟแห่งประเทศไทย และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รักษาการตามพระราชกฤษฎีกา  โดยมีรายละเอียด ดังนี้

การขอพื้นที่จากส่วนราชการ เช่นกรมป่าไม้ กรมชลประทาน และกรมธนารักษ์ สถานะปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งรัดการดำเนินการขอใช้พื้นที่ โดยมีสัญญาที่ได้รับผลกระทบรวม จำนวน 7 สัญญา

สถานีอยุธยา ที่คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ให้พิจารณาย้ายสถานี สถานะปัจจุบัน การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาผลกระทบต่อมรดกโลกทางวัฒนธรรม หรือ HIA แล้ว โดยเริ่มงานเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ระยะเวลาดำเนินการ 6 เดือน กำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จภายในวันที่ 24 เมษายน 2566 

โครงสร้างร่วมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ขณะนี้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเป็นผู้ก่อสร้างโครงสร้างร่วมในส่วนของโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมานั้น อยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียด ขณะเดียวกันการรถไฟฯ และเอกชนคู่สัญญา อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขสัญญาในส่วนของการก่อสร้างโครงสร้างร่วมควบคู่กันไป โดยคาดว่าจะออกแบบแล้วเสร็จและเริ่มก่อสร้างได้ภายในต้นปี 2566

ด้านสัญญางานระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟ รวมถึงจัดฝึกอบรมบุคลากร ได้ลงนามสัญญาไป เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 แต่ที่ผ่านมาต้องหยุดชะงักเนื่องจากสถานการณ์โควิด แต่ขณะนี้ได้กลับมาอยู่ระหว่างดำเนินงานตามสัญญาแล้ว โดยมีเนื้องานประกอบ ดังนี้

• งานออกแบบระบบทั้งหมด และขบวนรถไฟ งานก่อสร้างและติดตั้ง ซึ่งจะเริ่มหลังจากงานออกแบบแล้วเสร็จและงานโยธามีความคืบหน้าสามารถส่งมอบพื้นที่ให้เข้าวางราง และติดตั้งระบบไฟฟ้า,อาณัติสัญญาณ,ระบบสื่อสารรวมถึงการผลิตขบวนรถไฟ

• งานฝึกอบรมบุคลากรและงานถ่ายทอดเทคโนโลยี ล่าสุด ทางสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ส่งแบบ และเอกสารต่างๆ มาให้การรถไฟแห่งประเทศไทยพิจารณา โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย และคู่สัญญาอยู่ระหว่างตรวจสอบและแก้ไขในรายละเอียดต่างๆ คาดว่าจะเดินหน้างานระบบได้ภายในต้นปี 2566

นายเอกรัช กล่าวว่า การรถไฟฯ มีความมุ่งมั่นดำเนินงาน และเร่งพัฒนาโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ให้แล้วเสร็จและเปิดให้บริการทันตามกำหนดปี 2570 เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางแก่ประชาชน  ซึ่งหากก่อสร้างแล้วเสร็จจะใช้เวลาเดินทางจากสถานีต้นทาง สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถึงสถานีปลายทาง นครราชสีมา เพียง 90 นาที ซึ่งช่วยประหยัดเวลาในการเดินทาง และยังช่วยกระจายการเติบโตทางเศรษฐกิจไปยังภูมิภาคตามยุทธศาสตร์ชาติ ตลอดจนพลิกโฉมการคมนาคมขนส่งของประเทศ ให้ไทยเติบโตเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียนต่อไป