คลังเอาแน่! จ่อเก็บภาษีลาภลอยในอัตรา 5%

0
191

 

นายกฤษฏา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังอาจตัดสินใจเก็บภาษีลาภลอย หรือพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินฉบับใหม่ที่จะเรียกเก็บจากผู้ที่ได้รับอานิสงส์โครงการลงทุนโครง สร้างพื้นฐานของภาครัฐ อย่างรถไฟฟ้า หรือทางด่วน เป็นต้น ซึ่งล่าสุด สศค.เสนอให้เก็บภาษีที่ดินจากส่วนต่างของราคาระหว่างก่อนที่จะมีโครงการพื้นฐานและหลังจากที่มีโครงการลงพื้นฐานสร้างเสร็จแล้ว หากส่วนต่างของราคาที่ดินมีมูลค่ามากกว่า 50 ล้านบาท ต้องเสียภาษีให้แก่รัฐบาลในอัตรา 5% เฉพาะกรณีที่มีการซื้อขายเปลี่ยนมือหรือมีการทุบตึกเก่าเพื่อสร้างตึกใหม่ ซึ่งถือเป็นการพัฒนาที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์เหมือนกัน

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ศึกษาเรื่องดังกล่าวไว้นานแล้ว ซึ่งตรงกับแนวคิดของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่การจะเก็บภาษีที่ดินใหม่ หรือภาษีลาภลอยหรือไม่นั้น ยังอยู่ระหว่างการศึกษาและต้องเสนอให้ รมว.คลัง พิจารณาก่อนเ  นื่องจากในขณะนี้ คลังยังมี พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นกฎหมายเรื่องที่ดินอีกฉบับที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช.ซึ่งหากออกมาพร้อมๆ กันทั้ง 2 ฉบับจะกลายเป็นภาระของประชาชน

“แนวทางในการศึกษาของ สศค.คือ จะเก็บภาษีในอัตรา 5% ของส่วนต่างราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นโดยพิจารณาราคาจากที่ประ เมินที่ดินของกรมธนารักษ์เป็นหลัก เช่น ก่อนหน้าที่จะมีโครงการรถไฟฟ้าวิ่งผ่าน ราคาที่ดินแปลงนี้ 100 ล้านบาท และเมื่อโครงการสร้างเสร็จแล้ว ราคาประเมินที่ดินใหม่เพิ่มเป็น 150 ล้านบาท ส่วนต่างของราคาที่เพิ่มจะต้องเสียภาษีในอัตรา 5%  แต่แนวคิดนี้ ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน เช่น ในกรณีที่ส่วนต่างเพิ่มขึ้นเป็น 100 ล้านบาท หรือ 300 ล้านบาท จะจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นหรือลดลง เป็นต้น”

สำหรับกรณีที่อยู่อาศัย หรือเจ้าของเดิมไม่ได้ขายที่ดินแปลงนั้น นายกฤษฏา  กล่าวว่ากรณีนี้จะไม่เสียภาษี เช่นเดียวกับที่ดินที่ได้รับมรดกตกทอดก็จะไม่เสียภาษีที่ดินในอัตรา 5%  เพราะไม่ได้มีการนำที่ดินไปสร้างผลตอบแทนเพิ่มเติม โดยพ.ร.บ.ที่ดินใหม่ฉบับนี้ ยังไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการแต่จะใช้ชื่อ พ.ร.บ.ลาบลอยไปก่อน โดยภาษีใหม่ฉบับนี้หากมีผลบังคับใช้จะไม่มีผลย้อนหลัง กรณีที่โครงการลงทุนสร้างเสร็จแล้ว แต่จะใช้กับโครงการลงทุนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างหรืออยู่ระหว่างการอนุมัติ โดยที่ดินที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีที่ดินอาจจะกำหนดแบ่งตามเส้นรัศมีโดยรอบสถานีรถไฟฟ้า 3 กิโลเมตร ถนนหรือทางด่วน จะคิดจากจุดขึ้น-ลง 3-4 กิโลเมตร เป็นต้น