ลับ ลวง พราง ไฟฟ้าสตึงนัม

0
360
สตันท์กันไปวินาที… 
กับเรื่องที่ นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าฯการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ. ) ออกมายอมรับว่า”มีใบสั่งรัฐบาล” สั่งการให้กฟผ.เจรจาซื้อไฟฟ้าโรงไฟฟ้า “สตึงมนัมหรือสตึงนัม” ในราคาแพงลิบลิ่วถึง 10.75 บาทต่อหน่วย พ่วงรับน้ำ 300 ล้านลบ.ม. เพื่อใช้พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ “อีอีซี”
โดยนายสหรัฐได้ชี้แจงผ่านสถานีวิทยุแห่งหนึ่งต่อกรณีที่รัฐบาลไทยโดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) สั่งให้กฟผ. ลงนามในบันทึกข้อตกลง(เอ็มโอยู)กับบริษัท Steung Meteuk Hydropower จำกัด (SMH) ที่ได้รับสัมปทานพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสตึงนัม ประเทศกัมพูชาเพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากแหล่งผลิตดังกล่าวในราคา 10.75 บาทต่อหน่วย ที่มีราคาสูงเกินกว่าราคาค่าเฉลี่ยไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศไทย โดยยอมรับว่าเป็นเรื่องจริง แต่ขั้นตอนการลงนามข้อตกลงดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้น และไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าจะลงนามข้อตกลงกับผู้ลงทุนได้เมื่อใด
ทั้งนี้ กฟฝ. ฐานะผู้รับนโยบายไปปฏิบัติจำเป็นต้องดำเนินการตามนโยบาย ซึ่งมีเงื่อนไข ต้องเจรจาด้านเทคนิค และราคาค่าไฟฟ้า ขณะที่รายละเอียดของเอ็มโอยูนั้นกำหนดราคาที่ต้องรับซื้อ  10.75 บาทต่อหน่วยจริง และราคาดังกล่าวถือเป็นราคาที่จะได้รับไฟฟ้า และน้ำจากเขื่อนสตึงนัม จำนวน 300 ล้านลบ.ม. ซึ่ง กพช. วางนโยบายไว้ว่าจะนำมาใช้ในพื้นที่อุตสากรรมเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
ส่วนรายละเอียดของผู้ลงทุนที่ได้สัมปทานสร้างโรงไฟฟ้าสตึงมนัมนั้น รองผู้ว่า กฟผ. ระบุว่าไม่ทราบว่าเป็นนักลงทุนจากไทยหรือไม่ ทราบแค่ว่ามี 2 บริษัทที่ร่วมพัฒนาโครงการด้วยกัน และล่าสุดทราบว่าผู้ลงทุนได้บรรลุความเห็นชอบจากรัฐบาลประเทศกัมพูชาแล้ว ดังนั้นกระบวนการเจรจาซื้อขายไฟฟ้ากับรัฐบาลไทย จึงต้องเร่งให้ได้ข้อยุติ  โดยในหลักการนั้น ผู้ลงทุนต้องเดินสายส่งไฟฟ้ามายังชายแดนประเทศไทย จากนั้น กฟผ. จะเดินสายส่งจากชายแดนเข้าสู่ศูนย์ส่งไฟฟ้า โดยพื้นที่ของสตึงมนัมนั้นจะมีจุดชายแดนเชื่อมต่อที่จังหวัดตราด และหากเดินสายส่งไฟฟ้าที่ จ.จันทบุรี หรือ จ.ระนอง โดยระยะทางไม่มาก อีกทั้งโรงไฟฟ้าสตึงมนัมนั้น เป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก การผลิต 24 เมกะวัตต์ดังนั้นคาดว่าไม่ใช้เงินลงทุนสูง
ก็ไหนรัฐบาลปฏิรูปคสช.ตราหน้า นักการเมืองโกงกิน หากินทุกรูปแบบ และถนัดนักกับเรื่องใช้อำนาจเข้าไปแทรกแซงหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเพื่อแสวงหาประโยชน์  จนถึงขั้นที่กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) ต้องยกร่าง พรบ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ และจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติหรือ “ซูเปอร์โฮลดิ้ง” เพื่อตีกันนักการเมืองล้วงลูกเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 
แต่เหตุใดรัฐบาลกลับ “สำรอก”พฤติกรรมเช่นว่านี้ออกมาเสียเอง ผ่านกลไกคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ที่มีนายกฯ นั่งหัวโต๊ะโดยตรง! 
แม้จะอ้างเป็นโครงการความร่วมมือไทย-กัมพูชา เป็นข้อตกลงที่ไม่อาจจะปฏิเสธได้เพื่อกระชับสัมพันธ์อันดีระหว่างบ้านพี่-เมืองน้อง ไทย-เขมร ที่มีมาอย่างยาวนาน แต่กรณีที่มีการ “สอดไส้” พ่วงเอาบริษัทเอกชนที่เข้าไปทำข้อตกลงรับสัมปทานก่อสร้างโรงไฟฟ้าสตึงนัมเอาไว้ในข้อตกลงร่วม และบีบให้กฟผ.ต้องเจรจารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าดังกล่าวในราคาสูงลิบลิ่วถึง 10.75 บาท เป็นระยะเวลานานถึง 50 ปี ทั้งที่ค่าไฟฟ้าที่กฟผ.ผลิตได้เองในประเทศอยู่ในระดับแค่ 2.36 บาท/หน่วยเท่านั้น โดยอ้างผลพลอยได้จากการผันน้ำจากเขื่อมสตึงนัม 300 ล้านลบ.เมตรมายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ ระยะทางกว่า 300-400 ม.นั้น
มันคิดเป็นอื่นไปไม่ได้หรอก นอกจากมีกระบวนการและความพยายามของใครบางคนที่กำลังอาศัยกลไกเครื่องมือของรัฐแสวงหาผลประโยชน์เข้าพกเข้าห่อเอื้อให้พวกพ้อง ซึ่งเป็นพฤติกรรมเดียวกับนักการเมืองขี้ฉ้อทั้งหลายแหล่!!!  
แม้ล่าสุด “บิ๊กฉัตร พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรจะชิ่งหนี”เผือกร้อน”โครงการนี้ด้วยการทะลุกลางปล้องยืนยันกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรสามารถจัดหาน้ำป้อนให้แก่เขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซีได้ ไม่จำเป็นต้องผนวกเอาโครงการผันน้ำจากเขื่อนสตึงนัมเข้าไปอยู่ในแผน กันตัวเองออกไปจากวังวนผลประโยชน์
แต่ก็นัยว่ากลับเจอ “ใบสั่ง” นายกฯให้ต้องกลับไปศึกษาแผนบริหารจัดการน้ำในอนาคตพื้นที่อีอีซีนี้ให้ดี ศึกษาให้แน่ชัด ดูกันใหม่อีกรอบ สองรอบ สามรอบ สี่รอบและอาจเป็นสิบรอบว่า มีแผนรับมือน้ำขาดแคลนในอนาคต 20-30 ปีข้างหน้าได้แน่หรือ? 
ใบสั่งที่ให้กระทรวงเกษตรต้องกลับไปทบทวนแผนบริหารจัดการน้ำแผนสร้างอ้างเก็บน้ำโดยไม่ต้องผนวกเอาแผนพึ่งพาน้ำจากเขื่อนสตึงนัม ขณะที่แผนเจรจารับซื้อไฟฟ้าในโครงการนี้ยังค้างเติ่งคาราคาซังอยู่นั้น มันจึงคิดไปเป็นอื่นไปไม่ได้เลยนอกจากการสอดไส้ผลประโยชน์ เพราะต่อให้บวกค่าไฟมหาโหด บวกค่าน้ำมหาโหดไปยังไงมันก็ไม่น่าจะทะลักล้นไปถึงขนาดนั้น นอกจากบวก “เงินทอน” กันเอาไว้หลายขยัก!!!
เออ!ถ้าเป็นโครงการระหว่างรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายลิตฯของไทยไปร่วมลงทุนกับกัมพูชา  หรือกฟผ.ส่งบริษัทลูกราชบุรี โฮลดิ้งไปลงทุนเองหรือไปร่วมทุนกับฝั่งกัมพูชาเองก็ว่าไปอย่าง ยังพอจะก้อมแกล้มรับได้บ้าง แต่นี่อะไรเอาบริษัทเอกชนที่ไหนก็ไม่รู้เข้ามาเสียบเข้ามาขายไฟผูกปิ่นโตกันดื้อๆ 40-50 ปี 
เรื่องอื้อฉาวขนาดนี้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ผู้ตรวจการแผ่งดิน หรือ คณะกรรมการป.ป.ช.ไม่ติดจะล้วงลูกเข้ามาศึกษาหน่อยหรือว่า นโยบายซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนสตึงนัมหรือสตึงมนัมที่ว่านั่น เอื้อประโยชน์ต่อประชาชน ประเทศชาติหรือผลประโยชน์ของพวกพ้องกันแน่
จะปล่อยให้คนไทยต้องแบกค่าต๋งส่วนที่อมกันเอาไว้ไปถึง 50 ปีเลยหรือ?!!!!
                                                                                           
: เนตรทิพย์