เบื้องหลังความสำเร็จปลด “ธงแดง” ICAO

0
218
ต้องถือเป็นผลงาน “ชิ้นโบว์แดง”ของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างแท้จริง กับการแก้ไขปัญหามาตรฐานด้านการบิน หลังจากหน่วยงานด้านการบินของไทยถูก “องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)”  ประกาศ “แบลก์ลิสต์” ปัก “ธงแดง” บนเว็ปไซต์ของ ICAO อันแสดงให้เห็นความเสี่ยงด้านมาตรฐานความปลอดภัยทางการบินของประเทศไทย มาตั้งแต่ 18 มิถุนายน 2558 หรือเมื่อ 2 ปีก่อน
นายกรัฐมนตรีต้องงัด ม.44 ยกเครื่องหน่วยงานด้านการกำกับดูแลและตรวจสอบมาตรฐานการบินขนานใหญ่ จัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขวิกฤติการบินพลเรือนของไทยขึ้น และดำเนินการปรุบปรุงโครงสร้างองค์กรด้านการบินพลเรือนของไทยครั้งใหญ่ แยกหน่วยงานกำกับดูแลและหน่วยงานปฏิบัติออกจากกันเด็ดขาดท่ามกลางแรง “เสียดทาน” จากผู้คนท่ัวโลก ก่อนที่ ICAO จะประกาศปลด “ธงแดง”ประเทศไทยไปเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมาอันเป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความทุ่มเทและตั้งใจจริงของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหานี้ 
แน่นอน!ถนนทุกสายต่างพุ่งเป้าไปยังสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) และกระทรวงคมนาคม ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการประสานการแก้ไขปัญหา
อย่างไรก็ตามเบื้องหลังความสำเร็จของการแก้ไขวิกฤติการบินของประเทศนั้น หาใช่มีเพียงกระทรวงคมนาคมและสำนักงานการบินพลเรือนฯ(กพท.)เท่านั้น แต่ยังมีหลายหน่วยงานที่ร่วมบูรณาการแก้ไขปัญหานี้ โดยพล.อ.อ.ปรีชา ประดับมุข หัวหน้าสำนักงานและประสาน ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน (ศบปพ.)ได้กล่าวถึงเบื้องหลังความสำเร็จของการแก้ไขปัญหาวิกฤติด้านการบินพลเรือนของไทยในคร้ังนี้ ดังนี้ 
ผุดศูนย์ “ศบปพ.”แก้ปัญหาเบ็ดเสร็จ!
ผลพวงจากการที่ ICAO ปัก “ธงแดง” ให้กับประเทศไทยเมื่อกลางปี  2558 เพื่อเป็นการแจ้งเตือนให้ประเทศสมาชิกได้รับทราบถึงความเสี่ยงด้านมาตรฐานการบินของประเทศไทยนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินของไทยอย่างรุนแรง 
ประเทศสมาชิก ICAO หลายประเทศเพิ่มมาตรการในการตรวจสอบการบินของไทยมากขึ้น และมีการเพิ่มข้อจำกัดในด้านการบิน รวมถึงการประกาศห้ามสายการบินของไทยบินเข้าน่านฟ้าในบางประเทศ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศทั้งในด้านการคมนาคมและเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างรุนแรง  
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ตระหนักถึงผลเสียหายที่เกิดขึ้น หากไม่ได้รับการแก้ไขภายในเวลาอันรวดเร็ว หรือไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง แต่การแก้ไขปัญหาดังกล่าวหากดำเนินการไปตามขั้นตอนปกติของทางราชการ พบว่าต้องใช้เวลาดำเนินการอีกหลายปี ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์แห่งปัญหาที่เกิดขึ้นและยังอาจส่งผลกระทบไปยังกิจการที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะความเดือดร้อนของประชาชนที่มีความจำเป็นที่ต้องเดินทางโดยสายการบินไปยังที่หมายต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ
ด้วยเหตุนี้ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงได้สั่งการให้ใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฯชั่วคราว พ.ศ.2557 จัดตั้ง “ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือนหรือ ศบปพ.” ขึ้น โดยมีผู้บัญชาการทหารอากาศ(ผบ.ทอ.) เป็นผู้บัญชาการศูนย์ พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือนที่มีผู้แทนจากส่วนราชการและผู้ทรงคุณวุฒิต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านเทคนิคและการประสานงานที่มีบุคลากรจากกองทัพอากาศเป็นกำลังหลัก เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการติดธงแดงของ ICAO ให้แล้วเสร็จในเวลาอันรวดเร็ว โดยเริ่มดำเนินการทันทีตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน 2558  พร้อมให้ ศบปพ.รายงานความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาให้รองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านนี้ คือ พลเอก ประวิตร  วงศ์สุวรรณ  โดยตรงทุกระยะ 
ยกเครื่ององค์กรกำกับ-มาตรฐานการบิน
การแก้ไขปัญหาการบินพลเรือนของไทยที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ ICAO กำหนดนั้น เป็นเรื่องที่มีรายละเอียดซับซ้อน เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างขององค์กรกำกับดูแลด้านการบินพลเรือนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ไม่ได้แก้ไขกฎหมายทางด้านการบินพลเรือนให้ทันสมัยเพื่อรองรับความเติบโตด้านการบิน การไม่พัฒนาบุคลากรอย่างเป็นระบบ รวมถึงการไม่มีมาตรฐานในการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ หรือการตรวจสอบสายการบินที่เป็นมาตรฐาน เหล่านี้คือปัญหาที่ ศบปพ.และกองทัพอากาศ ต้องดำเนินการแก้ปัญหาโดยเร็วภายในเวลาที่จำกัด เพื่อให้ประเทศไทยก้าวพ้นวิกฤติการบินพลเรือนโดยเร็วที่สุด
โดยสิ่งที่ ศบปพ.ดำเนินการไปนั้น ประกอบด้วย 1.การจัดโครงสร้างทางด้านการบินพลเรือนใหม่ ด้วยการยกเลิกองค์กรเดิม จัดตั้งเป็น “สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ กพท.” 2.การจัดหาบุคลากรที่มีคุณวุฒิตามที่ ICAOเกำหนด เพื่อมาทำหน้าที่ผู้ตรวจสอบ เพื่อออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ 3. การจัดทำกฎหมายที่เกี่ยวกับการบินพลเรือนตามมาตรฐานสากลของ ICAO 4.การออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศหรือใบรับรองสายการบินให้เป็นไปตามมาตรฐาน
ต่อมาในเดือนตุลาคม 2559 รัฐบาลเล็งเห็นว่า ปัญหาด้านการบินพลเรือนควรเป็นเรื่องด้านพลเรือน รัฐบาลจึงจัดตั้ง “คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน” โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน แต่อนุกรรมการแก้ไขปัญหายังคงขึ้นตรงต่อ “คณะกรรมการขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดิน” คณะที่ 5 ที่มีพลเอก ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นผู้รับผิดชอบ 
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการชุดนี้ จัดตั้งขึ้นเพื่อเสริมขีดความสามารถในการแก้ปัญหา โดยให้สำนักงานการบินพลเรือน(กพท.) เป็นหน่วยหลัก และมี ศบปพ.และกองทัพอากาศ ซึ่งเป็นหน่วยแรกที่เข้าไปแก้ปัญหาเป็นหน่วยสนับสนุนและกำกับดูแลเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างถูกต้องตามมาตรฐาน ICAO  และตลอดระยะเวลาของการประสานข้อมูลเจรจาและแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้วิกฤติทางการบินของประเทศไทยเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดี  
บทสรุป
ผลจากการผนึกกำลัง ความตั้งใจจริง และความจริงจังของกองทัพอากาศ สำนักงานการบินพลเรือน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และรัฐบาล ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ยังผลให้ขณะนี้ประเทศไทยได้เดินมาถึงจุดที่ได้รับการตรวจสอบและตรวจสอบซ้ำจาก ICAO เพื่อปลดธงแดงทางด้านการบินพลเรือนของไทยแล้ว ก่อนที่ ICAO จะประกาศปลด “ธงแดง” หน้าชื่อของประเทศไทย ในเวปไซต์ที่เป็นทางการของ ICAO เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2560   สะท้อนให้ประเทศสมาชิกได้รับทราบว่า ประเทศไทยได้แก้ปัญหาวิกฤตด้านการบินพลเรือน และยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยเข้าสู่มาตรฐานสากลเรียบร้อยแล้ว  
นับตั้งแต่ 18 มิถุนายน 2558 เป็นต้นมา รวมเวลาแห่งความพยายามกว่า 2 ปี 4 เดือนนั้น บัดนี้อิสรภาพทางด้านการบินพลเรือนของไทยที่จะบินไปในโลกกว้างอย่างไร้ขีดจำกัดจะกลับมาอีกครั้ง พร้อมกับความภาคภูมิใจที่เราได้ทำงานร่วมกันอย่างทุ่มเท ทั้งกำลังกาย กำลังใจ สติปัญญา และเสียสละเวลาส่วนตัว เพื่อช่วยกันยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินรวมทั้งช่วยกันแก้ปัญหานี้ให้กับประชาชนอันเป็นที่รักของเรา
ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ การสร้างความมั่นใจในการพัฒนามาตรฐานการกำกับดูแลและการสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรกำกับดูแลทางด้านการบินพลเรือนของไทย รวมทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินเพื่อก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคนี้ได้ในอนาคต