“นายกฯตู่”สั่งศึกษาความคุ้มค่าไฮสปีดเทรนกรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่หลังญี่ปุ่นชงผลการศึกษาต้องใช้เงินลงทุน 4 แสนลบ.

0
175
นายกฯสั่งศึกษาความคุ้มค่าเส้นทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่หลังญี่ปุ่นชงผลการศึกษาต้องใช้เงินลงทุน 4 แสนล้านบาท พร้อมให้ผลักดันโครงการรถไฟฟ้ารางเบาเชียงใหม่เข้าที่ประชุมพีพีพี
นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)เปิดเผยถึงผลการพบปะหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีกับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนภาคเอกชน ผู้บริหารท้องถิ่น และผู้แทนเกษตรกรในภาคเหนือ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลก ว่า ผลของการประชุมในครั้งนี้จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ จังหวัดสุโขทัย ในวันที่ 26 ธ.ค.2560 โดยที่ประชุมได้พิจารณาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคม ไปศึกษาความคุ้มค่าและวงเงินลงทุนของโครงการรถไฟความเร็วสูง (High Speed Train) เส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ เนื่องจากกระทรวงคมนาคมรายงานว่าทางญี่ปุ่นเพิ่งส่งผลการศึกษากลับมา ระบุว่าต้องวงเงินลงทุนสูงถึง 400,000 ล้านบาท โดยนายกรัฐมนตรี ให้ไปพิจารณา และกลับมาอธิบายเพิ่มเติมถึงผลตอบแทนในเรื่องของยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง และภูมิภาค จะสอดรับกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นนี้อย่างไร
 ขณะเดียวกันได้สั่งการให้นำเรื่อง การพัฒนาระบบรถไฟฟ้ารางเบา(LRT) ของจังหวัดเชียงใหม่ เข้าสู่ที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(พีพีพี) ว่าโครงการนี้ จะใช้ระบบพีพีพีหรือไม่ โดยขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดวงเงินซึ่งทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ได้ทำการศึกษามา 2 เส้นทางโดยระบบใต้ดินมีระยะทาง 34 กิโลเมตรและระบบบนดินมีระยะทาง 41 กิโลเมตร รวมทั้งให้กระทรวงคมนาคมไปเร่งพิจารณารายละเอียดและจัดลำดับความสำคัญของการพัฒนาโครงข่ายขนส่งทางอากาศซึ่งผู้แทนภาคเอกชนภาคเหนือเร่งรัดให้จัดทำโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่แห่งที่ 2 ซึ่งปัจจุบันมีท่าอากาศยานที่มีอยู่มีจำนวนผู้โดยสาร9 ล้านคนต่อปี เริ่มมีปัญหาการจราจรติดขัดทางเข้าออก และจะเต็มขีดความสามารถในการรองรับในปี 2573 ที่ 35 ล้านคน รวมถึง พิจารณาถึงข้อเสนอการปรับปรุงท่าอากาศยาน ลำปางแพร่ น่าน และพิษณุโลก
เลขาธิการ สศช. กล่าวด้วยว่าที่ประชุมเห็นชอบในหลักการและมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงคมนาคม  จัดลำดับความจำเป็นเร่งด่วนการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำหลักของภาคเหนือ โดยให้คำนึงถึงการอนุรักษ์ ฟื้นฟู เพิ่มพื้นที่ป่าต้นน้ำ การแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากภัยแล้งที่เกิดจากการไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำตามลำน้ำสาขาในลุ่มน้ำหลัก โดยเฉพาะลุ่มน้ำยมโดยให้เร่ง การสร้างความรับรู้และความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้างการยอมรับ และสนับสนุนการดำเนินการ 
พร้อมกันนี้ ได้ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชนสนับสนุนโครงการเกษตร อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกภาคเหนือ โดยใช้ผักและผลไม้นำร่อง ในลักษณะครอบคลุมการผลิตต้นทางกลางทางและปลายทาง เพื่อเป็นอาหารอนาคต และ รับไปพิจารณาสนับสนุนการจัดงานแสดงสินค้าศักยภาพการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปมูลค่าเพิ่มสูงภาคเหนือ และการจัดงานแสดงสินค้าและจับคู่ธุรกิจภาคเหนือในระดับนานาชาติ
นอกจากนี้ ให้กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศกระทรวงคมนาคม สนับสนุนการอำนวยความสะดวกด้านการค้า การค้าชายแดน การลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับเมียนมา ซึ่งในเรื่องส่งเสริมการท่องเที่ยว นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะระบุให้กระทรวงคมนาคม มาร่วม สร้างการเชื่อมโยงทางถนน ของจังหวัดต่างๆกับจุดท่องเที่ยวให้มากขึ้น ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่ใหญ่มากนัก นอกจากนี้ เอกชนภาคเหนือเสนอ โครงการดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจรภาคเหนือ โดยใช้ศักยภาพของสถาบันการศึกษาในพื้นที่ในการขับเคลื่อน และผลักดันนโยบายเมืองสมุนไพรและการแพทย์แผนไทย ซึ่งนายกญได้สั่งการให้ กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุขรับไปพิจารณาจัดทำแผนแม่บทด้วย