เปิดแผนฟื้นฟูรถไฟไทย 10 ปี ตั้งเป้าลดขาดทุน พลิกมีกำไร 2 หมื่นล้านบาท

0
796

การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เตรียมเสนอแผนฟื้นฟูระยะ 10 ปี ระหว่างปี 2561-2570 ให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาในวันนี้ (19 ม.ค.) สำหรับแผนฟื้นฟูตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2570 การรถไฟฯ จะมีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เป็นบวกมากกว่า 20,000 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิลดลงเหลือ 8,800 ล้านบาท ฟื้นตัวจากปี 2560 ที่มีอีบิทด้าติดลบอยู่ 5,7000 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 17,000 ล้านบาท โดยอีบิทด้าจะเริ่มเป็นบวกในปี 2563 เนื่องจากรายได้จากการบริหารทรัพย์สินจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดและสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม การรถไฟฯ อยู่ระหว่างจัดตั้งบริษัทลูกด้านบริหารทรัพย์สินที่มีความคล่องตัวเหมือนเอกชนและว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดูแล ซึ่งคาดว่าจะทำให้รายได้เชิงพาณิชย์ของรถไฟเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 2,500 ล้านบาทในปี 2560 เพิ่มเป็น 14,000-15,000 ล้านบาทในปี 2570 โดยรายได้หลักจะมาจากพื้นที่แปลงใหญ่ที่ยังไม่เคยเปิดประมูล เช่น บางซื่อ, กิโลเมตร 11, สถานีแม่น้ำ และมักกะสัน ขณะเดียวกันการรถไฟฯ ต้องปรับปรุงการบริหารสัญญาเช่าในปัจจุบันที่มีกว่า 5,000-6,000 สัญญา  เพราะขณะนี้ระบบฐานข้อมูลของการรถไฟฯ ยังไม่สมบูรณ์ 100% ส่งผลให้ออกใบแจ้งหนี้ให้ผู้เช่าไม่ทันหรือขาดการต่อสัญญาไปบ้าง

“ปี 2560 อีบิทด้าติดลบประมาณ 5,700 ล้านบาท ถ้าจากประมาณการของเรา คาดว่าอีบิทด้าจะเริ่มเป็นบวกในปี 2563 จากนั้นเป็นบวกขึ้นไปเรื่อยๆ ตัวที่กระชากมากๆ คือ รายได้จากการตั้งบริษัทลูกบริหารทรัพย์สิน คิดดูรายได้จากเชิงพาณิชย์อยู่ที่ 2,500 ล้านบาท มาในปี 63 จะเพิ่มเป็น 9,000 ล้านบาท, ปี 64 เป็น 15,000 ล้านบาท, ปี 65 เป็น 13,000 ล้านบาท ตัวนี้มันกระโดดมาก นำมาช่วยเหลือเรื่องรายได้ได้เยอะทีเดียว”

นอกจากนี้ ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มรายได้จากขนส่งจาก 5,800 ล้านบาทในปี 2560 เป็น 24,000 ล้านบาทในปี 2570 หรือเติบโต 300% ด้านสัดส่วนรายได้ก็มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลง จากเดิมในปี 2560 มีสัดส่วนรายได้จากการขนส่งผู้โดยสาร 3,700 ล้านบาท คิดเป็น 64% และรายได้จากการขนส่งสินค้าอยู่ที่ 2,100 ล้านบาท คิดเป็น 36% แต่ในปี 2570 สัดส่วนรายได้ทั้ง 2 ประเภทจะเริ่มใกล้เคียงกันมากขึ้น คือ รายได้จากผู้โดยสารจะอยู่ที่ 14,000 ล้านบาท คิดเป็น 58% และรายได้จากการขนส่งสินค้าอยู่ที่ 10,000 ล้านบาท คิดเป็น 41%

สำหรับปัจจัยที่จะทำให้รายได้จากการขนส่งเพิ่มขึ้น คือ นโยบายสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบรางของรัฐบาล เช่น รถไฟทางคู่เฟสที่ 1 จำนวน 7 โครงการ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง, รถไฟทางคู่เฟสที่ 2 จำนวน 7 เส้นทางและรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง ที่อยู่ระหว่างขั้นตอนขออนุมัติโครงการ  ขณะเดียวกันการรถไฟฯ ต้องจัดหาล้อเลื่อนเพื่อรองรับรถไฟทางคู่ที่กำลังก่อสร้าง ประกอบด้วย การจัดซื้อรถจักร 78 คัน และเช่ารถจักร 50 คัน, การจัดหารถดีเซลราง 900 คัน และการจัดหารถโดยสาร 500 คัน วงเงินรวมประมาณ 100,000 ล้านบาท โดยรถไฟต้องจัดหาเงินลงทุนส่วนนี้เองและคงต้องใช้วิธีกู้ยืมบางส่วน

“ล้อเลื่อนใหม่จะต้องทยอยเข้ามาในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เพื่อรองรับรถไฟทางคู่ ซึ่งรถไฟวางแผนจะรับมอบรถจักรให้ครบทั้งหมดในปี 2564 รถดีเซลรางและรถโดยสารใหม่จะเริ่มรับมอบในปี 2565-2567” 

ทั้งนี้ในแผนฟื้นฟูได้มีการคาดการณ์ด้านรายจ่ายว่า ในปี 2570 การรถไฟฯ จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่ารายได้ โดยได้แบ่งค่าใช้จ่ายที่คิดรวมอยู่ในอีบิทด้าเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1. ค่าใช้จ่ายในการบำรุงทางและระบบอาณัติสัญญาณ ซึ่งอยู่ที่ 2,300 บาท ในปี 2560 และคาดว่าจะเติบโตขึ้น 70% เป็น 3,900 ล้านบาทในปี 2570 สาเหตุที่มีอัตราเติบโตไม่มาก เพราะเพิ่งได้รับงบประมาณให้ปรับปรุงทางรถไฟทางเดี่ยวในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา และรถไฟทางคู่ที่กำลังจะเปิดใช้ใหม่ ก็มีต้นทุนการบำรุงรักษาไม่มากนัก 2. ค่าซ่อมบำรุงรถจักรรถพ่วง ซึ่งอยู่ที่ 3,800 ล้านบาท ในปี 2560 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 4,400 ล้านบาทในปี 2570 โดยการจัดหาล้อเลื่อนใหม่จะทำให้ต้นทุนการบำรุงรักษาต่อหน่วยลดลง จากปัจจุบันที่ล้อเลื่อนของรถไฟมีอายุเฉลี่ยมากกว่า 30 ปีและมีต้นทุนการบำรุงรักษาสูง และ 3. ค่าใช้จ่ายด้านปฏิบัติการเดินรถ ซึ่งรวมการจ้างเหมาต่างๆ, ค่าน้ำมัน, ค่าจ้างพนักงาน โดยในปี 2560 อยู่ที่ 7,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 9,000 ล้านบาท ในปี 2570 เนื่องจากการรถไฟฯ จะมีค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนและค่าล่วงเวลาพนักงานลดลง รวมถึงล้อเลื่อนใหม่จะมีอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงลดลงไม่ต่ำกว่า 10%

นอกจากนั้นในแผนฟื้นฟูยังได้คาดการณ์ต้นทุนที่ไม่รวมอยู่ในอีบิทด้าว่า อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะเพิ่มจาก 3,000 ล้านบาทในปี 2560 เป็น 15,000 ล้านบาทในปี 2570 เป็นการเพิ่มตามหนี้สินสะสม โดยปัจจุบันการรถไฟฯ มีหนี้สะสมอยู่ที่ 120,000 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากการลงทุน, ค่าเสื่อมราคาจะเพิ่มขึ้นจาก 5,500 ล้านบาท เป็น 10,000 ล้านบาท และค่าจ่ายบำนาญจะเพิ่มขึ้นจาก 3,600-3,700 ล้านบาท เป็น 5,000 ล้านบาท เพราะพนักงานที่เกษียณอายุ มีอายุยืนยาวขึ้นจาก 75 ปี เป็น 85 ปี