สายสีส้ม…อุ้มสมโชว์ใบเสร็จหรา?!!!

0
104

ถูกถลกหนังหัว (จน) เกือบเรียกแขกให้งานเข้า!

กับมหากาพย์ “รถไฟฟ้า สายสีส้ม” บางขุนนนท์-มีนบุรี วงเงินลงทุนกว่า 1.42 แสนล้าน ที่ถูกฝ่ายค้านลากไปอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีคมนาคม ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลห้วงสัปดาห์ก่อน

แม้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ที่ถูกอภิปราย จะได้รับเสียงโหวตฉลุยรอดจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ไปได้ แต่ผลโหวตที่ออกมาก็ทำเอาพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และตัว รมว.คมนาคม ออกอาการฟ้อนเงี้ยวเข้าใส่พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน ด้วยนัยว่ามี ส.ส.กบฏในพรรคร่วมรัฐบาลแหกมติไม่ยกมือไว้วางใจให้ จนจ่อจะมีรายการเช็คบิลล์ย้อนหลังตามมาอีกระลอก!  

จะให้เขายกมือไว้วางใจลงไปได้อย่างไร ในเมื่อคำชี้แจงของ รมต.คมนาคม กรณีล้มประมูลคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ประเคนใส่มือให้ รมต.คมนาคม นำมาชี้แจงตอบโต้ข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านนั้น น่าจะเรียกได้ว่าเป็นการ “โชว์ใบเสร็จ” มัดตัวเองเสียมากกว่า

โดยข้อมูลที่ นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. และนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36  ที่นำมาชี้แจงเพิ่มเติมต่อสื่อมวลชนกรณี รฟม.ล้มประมูลโครงการดังกล่าวเพื่อจัดประมูลใหม่ (ภายใต้หลักเกณฑ์คัดเลือกเจ้าปัญหาต่อไป) โดยอ้างว่า จะสามารถร่นระยะเวลาจากที่ต้องล่าช้าออกไปไม่น้อยกว่า 18 เดือน เหลือไม่เกิน 6-8 เดือนเท่านั้น

แค่ประเด็นความล่าช้าที่เป็นอยู่เวลานี้ ก็ย้อนแย้งสิ่งที่ฝ่ายบริหาร รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกประกาศปาว ๆ ๆ ก่อนหน้า ในการดั้นเมฆเปลี่ยนแปลงเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์เดิมอยู่แล้ว เพราะแต่เดิมนั้น ทั้ง รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกต่างก็ยืนยัน นั่งยันว่า การเปลี่ยนแปลงเกณฑ์พิจารณาคัดเลือก หลังปิดขายซองประกวดราคา (RFP) ไปแล้ว จะไม่ส่งผลต่อไทม์ไลน์ที่วางไว้ เอาเข้าจริงกลับเป็น “หนังคนละม้วน” ถูกบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมประมูลฟ้องหัวจนแทบไปไม่เป็น

ล่าสุด ยังปรากฏด้วยว่า บริษัท BTS ได้ส่งทนายยื่นฟ้องฝ่ายบริหาร รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกกราวรูดต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในความผิดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.อาญามาตรา 157 และ 165 แถมพ่วง พรบ.ป.ป.ช.มาตรา 172 ไปอีกคดี!

งานงอกล่ะทีนี้! ไอ้ที่ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกออกมายืนยัน นั่งยันจำเป็นต้องล้มประมูลโครงการนี้ไปก่อน เพราะไม่สามารถรอผลการพิจารณาในชั้นศาลและศาลปกครองสูงสุดได้ เพราะจะกระทบ “ไทม์ไลน์” การก่อสร้างและให้บริการรถไฟฟ้าที่วางไว้เดิมนั้น วันนี้ไม่เพียงจะกลายเป็นการ “เสียค่าโง่” ที่ทำให้รถไฟฟ้า สายสีส้มจ่อเผชิญทางตันแล้ว ทั้งฝ่ายบริหาร รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกเองยังจ่อ “หายใจไม่ทั่วท้อง” หนักเข้าไปอีกจากการถูกฟ้องคดีอาญากันเป็นพรวน!

เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า สิ่งที่ รฟม.และกรรมการคัดเลือก คิดเอง เออเอง ในการดอดไปถอนคำร้องอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ด้วยข้ออ้างได้ยกเลิกการประมูลตามอำนาจที่ตนเองมีนั้น วันนี้ไม่เพียงจะสะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกคิดเอง เออเอง ชงเอง-ตบเองอะไรนั้น มันเป็น “หนังคนละม้วน” แล้ว  

การ “ชงเอง-ตบเอง” สั่งล้มประมูลโครงการไปก่อนหน้าของ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกนั้น ล้วนไม่เคยได้สอบถามฝ่ายกฎหมายตนเอง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแม้แต่น้อยเลยว่า จะยังผลให้คดีความที่ตนเองถูกฟ้องคาราคาซังอยู่ในศาลกรณีเปลี่ยนแปลงเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าวได้ยุติลงไปด้วยหรือไม่ การล้มประมูลโครงการเดิม ได้ทำให้คดีความที่คาราคาซังอยู่ในชั้นศาลต้องยุติลงไปด้วยหรือไม่ ?  

มิหนำซ้ำวันนี้ ยังถูกฟ้องคดีอาญาพ่วงไปด้วยอีกคดี!

อย่างไรก็ตาม แม้จะถูกฟ้องนัวเนียซะขนาดนี้ แต่ดูเหมือนทั้งฝ่ายบริหาร รฟม.และกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 กลับไม่สะท้าน ยังคง “ดั้นเมฆ” เดินหน้าจัดประมูลภายใต้เกณฑ์พิจารณาคัดเลือกเจ้าปัญหาที่ว่า โดยล่าสุด ผู้ว่าการ รฟม. ยืนยันจะเปิดรับฟ้องข้อคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องผ่านช่องทางออนไลน์ ก่อนจะเร่งนำเกณฑ์ดังกล่าวไปเปิดประมูลให้ได้ภายในเดือน มี.ค.ศกนี้ เพื่อนำเสนอผลประมูลต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน ส.ค.ศกนี้

คำถามก็ทุกฝ่ายต่างกังขาต่อการดั้นเมฆของ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกข้างต้นก็คือ หากศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในคดีที่บีทีเอสได้ยื่นฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกเอาไว้ก่อนหน้าว่า เกณฑ์คัดเลือกเจ้าปัญหาของ รฟม.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเกณฑ์ประมูลที่เอื้อประโยชน์ต่อเอกชนรายหนึ่งรายใดแล้ว โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จะไม่ถูกฝังไปด้วยหรือ และชะตากรรมของ ฝ่ายบริหาร รฟม. รวมทั้งคณะกรรมการตามมาตรา 36 ที่ถูกฟ้องคดีอาญาแถมพ่วงไปด้วยจะไม่ถูกฝังไปด้วยหรือ?

ยิ่งล่าสุด “ศาลอุทธรณ์คดีทุจริตและประพฤติมิชอบ” เพิ่งจะมีคำพิพากษาในคดีทุจริตโครงการรถฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กรณีมีแก้ไขเอกสารประกวดราคาเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนจนเป็นเหตุให้รัฐเสียหาย โดยได้มีคำพิพากษาจำคุกอดีตผู้ว่าการรถไฟฯ ถึง 9 ปีแต่คำให้การเป็นประโยชน์จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 6 ปี

บทเรียนจาก “โครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์” ข้างต้นนี้ ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้โครต่อใครที่กำลังดั้นเมฆจะนำเอาเกณฑ์ประมูลคัดเลือกซึ่งมีการแก้ไขกัน “โจ๋งครึ่ม” แตกต่างไปจากเกณฑ์ประมูลคัดเลือก(RFP) เดิมที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วมาใช้กันให้ได้อีกหรือ

แถมศาลปกครองกลางยังมีคำสั่งคุ้มครอง และให้ทุเลาการนำเอาเกณฑ์คัดเลือกเจ้าปัญหาที่ว่ามาใช้ด้วยอีก!

ระวังทั้งนายกฯ และ รมว.คมนาคม จะโดนหางเลขเอาด้วยเพราะเห็นชัดๆ ว่า มีขบวนการอุ้มสมล็อคสเปคตั้งแต่ในมุ้ง โชว์ใบเสร็จหรากันซะขนาดนี้ กลับนิ่งดูดายไม่มีหือ ไม่อืออะไรเลย

หรือว่ารู้เห็นเป็นใจขบวนการฮั้วเพื่ออุ้มสมกลุ่มทุนทางการเมือง!