จริงมั้ย?ทล.หมายเลข 36 โฉมใหม่!บนความพิเศษถนนคอนกรีตไร้รอยต่อ(CRCP)ใช้งานนาน 20 ปี

0
731

เหลือบเห็นข่าวกรมทางหลวง(ทล.)โดยสำนักสร้างทางที่ 2 ได้ขยายทางหลวงหมายเลข 36 สายกระทิงลาย-ระยอง (รวมสะพานข้ามแยกขนำไร่ และแยกหนองบอน) ตอนแยกต่างระดับเขาไม้แก้ว-หนองบอน ขนาด 6 เลนไป-กลับระหว่าง กม.16+300 ถึง กม. 25+000 รวมระยะทาง 8.7 กม.ด้วยงบประมาณก่อสร้าง 770,374,437 บาทเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ดูผิวเผินแล้สก็เป็นการก่อสร้าง-ขยายถนนทั่วๆไป ทว่า หากดูงบประมาณที่ทุ่มลงไปกับการขยายทางหลวงหมายเลข 36 เฉพาะตอนแยกต่างระดับเขาไม้แก้ว-หนองบอนนี้ที่มีระยะยางแค่ 8.7 กม.เท่านั้น แต่…ทำไม๊ทำไม?ถึงได้ใช้งบประมาณบานตะไทถึง 770,374,437 บาท เฉลี่ยแล้วตกกม.ละกว่า 88 ล้าน ย้ำ!กว่า 88 ล้านต่อกม.เลยเชียวนะญาติโยมทั้งหลาย

เริ่มสงสัยแล้วล่ะสิว่าทำไม???มันถึงแพงเว่อร์วังขนาดนั้น มันมีความพิเศษพิโสอะไรทั้งในวิธีการ-วัสดุก่อสร้างถึงได้กะซวกลากไส้งบประมาณก่อสร้างมากถึงเพียงนั้น ที่สำคัญสร้างเสร็จแล้วมันคุ้มค่าสมราคาเม็ดเงินที่ทุ่มทุนสร้างหรือไม่?การใช้งานมันแข็งแรงคงทน-ยึดอายุการใช้งานได้มากน้อยเพียงใด?

สืบจากรายงานข่าวก็พอทราบได้ว่าไอ้การขยายทางหลวงหมายเลข 36 รวมระยะทางตลอดสาย 58 กม.และตอนดังกล่าวเป็น 1 ใน 6 ตอนการก่อสร้าง ซึ่งเหลือเพียง 1 ตอนอีก 12 กม.ก็จะครบ 6 เลนตลอดสายคาดว่าภายในเม.ย.นี้ โดยถนนเส้นนี้ถือเป็นทางหลวงสายหลักเชื่อมการเดินทางจาก จ.ชลบุรี เชื่อมโยงการคมนาคม-ท่องเที่ยว และโครงข่ายการขนส่งสินค้าระหว่างนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกในพื้นที่จ.ระยอง-ชลบุรี มีการจราจรคับคั่งอีกทั้งยังเป็นเส้นทางประชากรรถบรรทุกวิ่งกันพลุกพล่าน

กับข้อสงสัยทำไมถึงพิลึกกึกกือขนาดนั้น?กับระยะทางแค่ 8.7 กม.ถึงได้ใช้งบประมาณเปลืองบานตะไทถึง770,374,437 บาท เฉลี่ยแล้วตกกม.ละกว่า 88 ล้าน ถือว่าแพงเว่อร์เมื่อเทียบกับการก่อสร้างเส้นอื่นๆ

ตามรายงานข่าวระบุว่าก่อสร้าง-ขยายสายนี้มันมีความพิเศษนะสิญาติโยม เพราะเป็น 1 ใน 4 ถนนคอนกรีตแบบเสริมเหล็กต่อเนื่อง (ถนนคอนกรีตแบบไร้รอยต่อ) หรือศัพท์แสงภาษาอังกฤษที่วา Continuously Reinforced Concrete Pavement (CRCP)ของกรมทางหลวง

แล้วไอ้ถนนคอนกรีตแบบไร้รอยต่อนี้ต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูงแต่คุ้มค่ากับการลงทุน เพราะถนนมีความราบเรียบเวลาขับขี่เสียงจะเงียบ-ไม่สะดุด มีความคงทนแข็งแรง ลดค่าใช้จ่ายบำรุงรักษา มีอายุใช้งานยืนยาวเมื่อปรับปรุงเสร็จใช้งานได้อีก 20 ปีเลยทีเดียวเชียว

การก่อสร้างนั้นก็ต้องพิจารณาจากปริมาณรถบรรทุกที่มีการสัญจรสูง และเหมาะสำหรับถนนในชุมชนที่การจราจรหนาแน่นเป็นสิบๆ ล้านเที่ยว โดยจะก่อสร้างด้วยการวางเหล็กเสริมยาวต่อเนื่องแล้วเทคอนกรีตให้เรียบแตกต่างจากรูปแบบการก่อสร้างถนนผิวทางแอสฟัลต์คอนกรีตจะบดอัดแอสฟัลต์คอนกรีตให้เรียบ

ทั้งนี้ ถนนคอนกรีตที่ ทล.ก่อสร้างแบ่งเป็นผิวทางคอนกรีตเสริมเหล็กแบบมีรอยต่อ (Joint Reinforced Concrete Pavement) หรือ JRCP เป็นคอนกรีตที่มีการเสริมเหล็กกันการแตกร้าวจากการยึดหดตัวของคอนกรีตเสริมเหล็กด้านบนผิวคอนกรีตและติดตั้งเหล็กเดือย (Dowel) เพื่อถ่ายแรงระหว่างแผ่นคอนกรีตเป็นรูปแบบที่ ทล. ใช้มากที่สุด

ส่วนอีกแบบเป็นแบบผิวทางคอนกรีตแบบเสริมเหล็กต่อเนื่อง (Continuously Reinforced Concrete Pavement) หรือ CRCP เป็นคอนกรีตที่เสริมเหล็กเช่นเดียวกัน แต่ใช้ปริมาณเหล็กเสริมมากเป็นพิเศษ เพื่อยึดรอยแตกร้าวเข้าไว้ด้วยกัน จึงไม่จำเป็นต้องมีรอยต่อระหว่างแผ่นเพื่อเป็นจุดบังคับการแตกร้าวเหมือนถนนคอนกรีต จุดสังเกตจะไม่มีรอยต่อตามขวางแบบ JRCP โดยมีค่าก่อสร้างสูงกว่า JRCP ประมาณ 20% แต่ทนทานถึง20 ปีหรือทนกว่าJRCP ที่มีอายุใช้งานประมาณ 7ปี ถึง 13-14 ปี

ไอ้ที่ว่าแพงเว่อร์มันจึงมีด้วยประการฉะนี้แล ส่วนใครจะเชื่อหรือไม่?ก็…นิมนต์ได้ตามอัธยาศัย เพราะ…มันนานาจิตตังจ๊ะญาติโยม!

:วิหคไพร