TSM สำคัญไฉน?ขนส่งฯถึงบังคับให้ผู้ประกอบการต้องมี!

0
1786

เชื่อว่าหลายๆท่านในที่นี้ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการขนส่งรายใหญ่-กลาง-เล็ก หรือแม้แต่พนักงานขับรถโดยสาร-รถบรรทุกเองคงได้ยินได้ฟังผ่านหูผ่านตาในโลกข่าวสารมาบ้างแล้วไม่มากน้อยก็น้อย กับคำว่า“บุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง” (Transport Safety Manager : TSM) ที่กรมขนส่งฯได้จุดพลุเรื่องนี้มาตั้งแต่ 2564

หวังสร้างความปลอดภัย และลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจากการขนส่งทางถนนท่ามกลางเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบดังก้องเป็นเรื่อง“ยุ่งยากแถมเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการ”พร้อมได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2565 และถึงวันนี้หลังเปิดศักราชใหม่ 2566 มาก็มีผลเริ่มบังคับใช้แล้ว

ล่าสุด (5ม.ค.2566)กรมขนส่งฯก็ออกโรงตอกหัวตะปูย้ำว่าผู้ประกอบการขนส่งต้องมีบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง (Transport Safety Manager : TSM) ที่เริ่มบังคับใช้กับผู้ประกอบการขนส่งกลุ่มแรก ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป พร้อมกำชับว่าหากผู้ประกอบการไม่มีบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่งที่ว่านี้ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท  

แล้วถามว่าบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่งสำคัญไฉนถึงต้องมี?มีหน้าที่หลักอะไรบ้าง?และผู้ประกอบการขนส่งกลุ่มไหนบ้างที่โชคดีถูกหวยเบอร์ใหญ่ในการบังคับใช้กลุ่มแรกนี้ ไปดูรายละเอียดกัน!

อย่างที่เกริ่นไว้แล้วว่ากรมขนส่งฯมุ่งหวังเพื่อสร้างความปลอดภัย และลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจากการขนส่งทางถนนเป็นหลักถึงได้ออกประกาศบังคับใช้กับผู้ประกอบการขนส่งต้องจัดให้มีบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง (Transport Safety Manager : TSM) ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการขนส่งประจำทางและไม่ประจำทางด้วยรถโดยสาร ผู้ประกอบการขนส่งไม่ประจำทางด้วยรถบรรทุก และผู้ประกอบการขนส่งส่วนบุคคลทุกราย

โดย Transport Safety Manager : TSM มีหน้าที่หลัก 5 ด้าน ได้แก่

1.การจัดการรถ

2.การจัดการผู้ขับรถ

3.การจัดการการเดินรถ

4.การจัดการการบรรทุกและการโดยสาร

และ5.การบริหารจัดการการวิเคราะห์และประเมินผล

ส่วนผู้ประกอบการขนส่งกลุ่มแรกที่ถูกบังคับใช้นั้น ได้แก่

1) ผู้ประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถโดยสาร หมวด 1 กทม. และจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง และหมวด 2 รายเดิมทุกราย

2) ผู้ประกอบการขนส่งไม่ประจำทางด้วยรถโดยสารรายเดิมที่มีรถตั้งแต่ 51 คันขึ้นไป

3) ผู้ประกอบการขนส่งไม่ประจำทางด้วยรถบรรทุกรายเดิมทุกรายที่มีรถขนส่งวัตถุอันตราย

4) ผู้ประกอบการขนส่งไม่ประจำทางด้วยรถบรรทุกรายเดิมที่มีรถตั้งแต่ 101 คันขึ้นไป

5) ผู้ประกอบการขนส่งส่วนบุคคลด้วยรถบรรทุกรายเดิมที่มีรถขนส่งวัตถุอันตราย ตั้งแต่ 6 คันขึ้นไป 6) ผู้ประกอบการขนส่งส่วนบุคคลรายเดิมทุกรายที่มีรถตั้งแต่ 101 คันขึ้นไป

7) ผู้ขอรับ (รายใหม่) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทาง และไม่ประจำทาง (ผู้ขอเป็นนิติบุคคล) ทุกราย

8) ผู้ขอรับ (รายใหม่) ใบอนุญาตประกอบการขนส่งด้วยรถบรรทุกไม่ประจำทางและส่วนบุคคลทุกรายที่มีรถตั้งแต่ 11 คันขึ้นไป

สำหรับผู้ประกอบการขนส่งกลุ่มอื่นนอกเหนือจากนี้จะมีการบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2567 และวันที่ 1 มกราคม 2568 ตามลำดับ ซึ่งต้องตามติดในรายละเอียดอีกครั้งว่ากลุ่มอื่นที่รอดการบังคับใช้ขบวนแรกนี้มีกลุ่มไหนบ้าง?

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ภายใต้ข้อบังคับเดียวกันนี้กลุ่มอื่นที่เหลือที่รอดในขบวนแรกในครั้งนี้เมื่อถึงเวลานั้นทุกกลุ่มก็จะมีผลบังคับใช้อยู่ดีไม่มีข้อยกเว้น!