ผ่าตลาดรถใหญ่เวทียุโรปปี65 ค่ายไหนวิน-วืด?

0
341

ทันทีที่เปิดม่านฟ้าศักราชใหม่ 2566 ยังไม่ครบขวบเดือนคงได้เห็นหลากหลายภาคธุรกิจทยอยประกาศผลประกอบการ-ยอดขาย-รายได้-กำไรของปี65ที่ผ่านมา ใครเป็นเจ้าตลาด?หรือใครครองส่วนแบ่งตลาดอันดับไหนอย่างไร?ในแง่มุมการแข่งขันในแต่ละภาคธุรกิจกันบ้างแล้ว

ฟากสมรภูมิตลาดรถใหญ่เมืองไทยในหลากหลายสายพันธุ์ อีกหนึ่งภาคธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีอัตราการแข่งขันดุเดือดในแต่ละปี หากเปรียบเป็นมวยบนผืนผ้าใบสังเวียนรถใหญ่สายพันธุ์ญี่ปุ่นต้องยกให้ 2 ค่ายมหาอำนาจ“อีซูซุ-ฮีโน่”เป็นมวยคู่เอกชิงความเป็นใหญ่-ครองเจ้าตลาดรถใหญ่สายพันธุ์ซามูไรบนผืนแผ่นดินไทย

ทว่า ณ ที่นี้ขอข้ามสังเวียนญี่ปุ่นไปเจาะเวทีรถใหญ่สายพันธุ์ยุโรปที่มี 2 โคตรมวยจากสวีเดน“สแกนเนีย-วอลโว่”ที่แต่ละปีเปิดฉากบู๊แลกหมัดระห่ำเดือดทวีอัตราความเมามันระดับมวยคู่เอกศึกสายเลือดวันชิงชัยเข็มขัด“เจ้ายุโรป”บนสังเวียนรถใหญ่สายพันธุ์ยุโรปในไทยทุกๆปี ซึ่งผลงานในปี 2565 ที่ผ่านมาค่ายไหนจะพุ่งทะยานเข้าวินในฐานะ“เจ้ายุโรป”?ค่ายไหนวืด?ไปผ่าดูไส้ในรายละเอียดกัน!

ย้อนไทม์ไลน์ดูเส้นทางการต่อสู้มวยคู่เอกประจำเวทียุโรป แม้ค่ายยักษ์ใหญ่วอลโว่จะผูกขาดครองบังลังก์เจ้ายุโรปมาอย่างยาวนาน ทว่า นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมาฟอร์มอันร้อนแรงดูแผ่วลงหลังถูกค่ายคนบ้านเดียวกันอย่างสแกนเนียโค่นลงจากบัลลังก์ในไทยเป็นครั้งแรก และจากนั้นมาก็ถูกค่ายพญากริฟฟินทิ้งห่างในแง่ยอดขายพลางย้ำแค้นด้วยการทะยานเข้าเส้นชัยพร้อมเถลิงบัลลังก์เจ้ายุโรป 5 ปีซ้อน(2560-2564)

ทว่า ปี 2565 ที่ผ่านมาค่ายวอลโว่ดูเหมือนมีพลังฮึกเหิมเป็นพิเศษกับการต่อกรกับคู่แข่งหวังทวงบัลลังก์กลับคืน ประจักษ์พยานพิสูจน์ฟอร์มดุดันด้วยยอดจดทะเบียน โดยอ้างอิงข้อมูลสถิติยอดจดทะเบียนครั้งแรก(ป้ายแดง)ประเภทรถบรรทุกจากกรมการขนส่งทางบกพบว่าหลังผ่านครึ่งทางปี65 ค่ายวอลโว่ถือว่าออกตัวได้ดีเก็บสะสมยอดขายด้วยยอดจดทะเบียนรวมยังนำค่ายสแกนเนียประมาณ 1 ช่วงตัว

ถึงกระนั้นหลังเข้าสู่ไตรมาส3ค่ายวอลโว่ก็ถูกค่ายสแกนเนียปาดหน้าแซงได้ชนิดฉิวเฉียด โดยสแกนเนียกวาดนิ่มๆสบายปีกนกกริฟฟินด้วยยอดจดทะเบียน 183 คัน ขณะที่ค่ายวอลโว่ตุนได้ถึง 180 คัน ทำให้ถูกมองว่ามวยคู่เอกประจำเวทียุโรปปีนี้ต้องดวลกันได้สนุกสูสี กับโค้งสุดท้ายปลายปีอีก 1 ไตรมาสยังเปิดกว้างให้ทั้ง 2 ค่ายจากสวีเดนได้ไล่บี้ไล่เบียดกันสนุกสมศักดิ์ศรีมวยรุ่นเฮฟวี่เวทโดยมีเข็มขัดแชมป์“เจ้ายุโรป”เป็นเดิมพัน

สแกนเนียย้ำแค้น!เบอร์1ยูโรเปี้ยนทรัค6ปีซ้อน

ค่ายสแกนเนียที่แม้จะออกตัวได้ไม่เฉิดฉายมากนักหลังปล่อยให้ค่ายคนบ้านเดียวกันสปีดออกตัวนำในช่วงไตรมาส1-2 ก็ตาม ทว่า พญากริฟฟินยังไมทิ้งลายเจ้ายุโรป5ปีซ้อนด้วยการเร่งเครื่องอันทรงพลังไล่แซงได้ในไตรมาส3ยันไตรมาส 4 โดยอ้างอิงสถิติยอดจดทะเบียนครั้งแรก(ป้ายแดง)ประเภทรถบรรทุกจากกรมการขนส่งทางบกประจำปี 2565

ซึ่งสแกนเนียสบายปีกนกกริฟฟินกวาดนิ่มๆด้วยยอดจดทะเบียนรวมที่ 231 คันปรับตัวลดลง28%เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนหน้าที่ 325 คัน เป็นตัวเลขสูงสุดกว่าทุกค่ายเป็นเบิกทางให้สแกนเนียได้แตะเกียร์อัจฉริยะ Scania Opticruise พุ่งทะยานครองเบอร์ 1 ยูโรปเปี้ยนทรัคในไทยสุดฟิน6ปีติดๆ(2560-2565) พร้อมกับทิ้ง“รอยแค้น”ให้กับคู่อริทางการตลาดหมายเลขหนึ่งอย่างค่ายคนบ้านเดียวกันไว้เป็นที่ระลึกอย่างเจ็บแสบอีก1คำรบปีการแข่งขัน

วอลโว่ ทรงอย่างดีแม้สุดท้ายชวดถอนแค้นคู่แข่ง!

ค่ายวอลโว่ที่แม้สุดท้ายจะพลาดเป้าตกเป็นท่านรองอีก1ปีก็ตาม แต่ทว่า ก็สามารถทำผลงานได้ดีและใกล้เคียงกับการไล่บี้ทวงบัลลังก์คืนจากคู่แข่งในรอบ 6ปี ประจักษ์พยานจากยอดจดทะเบียนรวมตลอดทั้งปี 2565 จบที่ 204 คัน เป็นตัวเลขหนุนให้วอลโว่มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 67% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนหน้าที่ทำได้เพียง 122 คัน

กับตัวเลขที่ทิ้งระยะห่างจากคู่แข่งเจ้าตลาดเพียง 27 คัน ถือเป็นทิศทางการเติบโตในตัวเลขสร้างเซอร์ไพร้สและประชิดตัวเข้าใกล้เส้นละติจูดการเขย่าบัลลังก์จากคู่อริทางการตลาดหมายเลขหนึ่งอย่างสแกนเนียได้เป็นอย่างดี สมดีกรีมวยคู่เอกรุ่นเฮฟวี่เวทแห่งเวทียุโรปที่ดวลหมัดกันได้สนุกสูสี

จับตา!ทางเดินเจ้าป่าราชสีห์ MAN ในกำมือ  Importer

ขณะที่ค่ายเจ้าป่าราชสีห์ MAN(เอ็ม เอ เอ็น)ผลพวงจากผลงานปี 2564 ค่ายรถใหญ่ MAN จากเมืองเบียร์ถือว่าฟอร์มดูมีออร่าเพราะเล่นเร่งเครื่องตะบปยอดขายพลางไล่จี้บั้นท้ายชนิดหายใจไม่ทั่วท้องกับอันดับสองอย่างค่ายวอลโว่ จนเป็นที่จับตาว่าปี 65 ถ้าฟอร์มยังสดแบบนี้น่าจะไล่บี้ขึ้นมาทดแทนเบอร์สองเวทียุโรปได้ไม่ยาก

ถึงกระนั้นแม้ช่วงต้นปี 65 จะรักษาฟอร์มสดไว้ได้ต่อเนื่อง สำทับกับคำประกาศก้องผู้บริหารระดับสูงจากฐานบัญชาการใหญ่ประจำประเทศไทยพุ่งเป้าปี65นี้ยอดขายต้องถึง 100 คันแรกให้จงได้ ทว่า พลันจบไตรมาส3กลับดูอ่อนแรงอย่างมีนัยสำคัญ กับยอดจดทะเบียนหลังจบไตรมาส 3 ค่ายพญาราชสีห์ MAN ทำได้เพียง 58 คันปรับตัวลดลง 20% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนหน้าที่ 73 คัน

อีกทั้งความเคลื่อนไหวทิศทางการตลาดในยุคสื่อโซเชียลเรืองอำนาจจากหน่วยบัญชาการใหญ่ที่เคยวูบวาบวิบวับๆกลับดูหายไปจากหน้าจอเรดาร์ทั้งทางตรงและอ้อม ชวนให้นึกสงสัยไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น?กับค่ายเจ้าป่าราชสีห์ MAN รถบรรทุกเกรดพรีเมียมพันธุ์แกร่งจากเมืองเบียร์ ที่บริษัทแม่หาญกล้าตั้งฐานบัญชาการในไทยพร้อมดึงแบรนด์จากอ้อมอก Importer ชื่อดังฝั่งปทุมฯเข้าสู่ชายคาหลังใหญ่หวังทำการตลาดเองกับมือ พร้อมพุ่งชนเป้าหมายสร้างการเติบโตอยู่คู่วงล้อการขนส่งและโลจิสตกส์เมืองไทย

และแล้วความจริงจากมิติพิศวงที่หายไปจากหน้าจอเรดาร์อย่างมีนัยสำคัญก็ปรากฎชัดเมื่อแหล่งข่าวระดับสูงระบุว่าฐานบัญชาการใหญ่ค่ายเจ้าป่าราชสีห์ในไทยที่คุมตลาดทั้งในไทยและเอเชียแปซิฟิคได้ปิดตัวลงแล้วย้ายฐานไปยังถ้ำเสือเหลืองมาเลเซียแทน เป็นกระจกบานใหญ่สะท้อนชัดว่าตลาดเมืองไทยไม่ง่ายอย่างที่คิดเป็น“ตลาดปราบเซียน”ของจริงสมคำร่ำลือ แม้ระดับบิ๊กบริษัทแม่ลงทุนลงแรงหวังปั้นเองกับมือยังยอมยกธงขาว“ม้วนสื่อกลับบ้าน”โบกมือบ๊ายบายไทยแลนด์

ส่วนการทำตลาด MAN ในไทยที่แต่เดิมอยู่ภายใต้ชายคาหลังใหญ่บริษัทแม่ก็ถูกเปลี่ยนถ่ายไปอยู่ในกำมือ Importer แทน ซึ่งไม่ใช่ใครที่ไหนเป็นตัวแทนจำหน่ายหนึ่งเดียวรถบัสโดยสาร MAN ที่เพียบพร้อมทั้งเงินทุนเงินถังแถมดีกรีซุปเปอร์คอนเน็คชั่นภาครัฐระดับท็อปของประเทศ  

ต้องจับตาว่าทิศทางเดินเจ้าป่าราชสีห์ MAN กับฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงที่ต้องวนลูปกลับไปพึ่งแรงพลังการขับเคลื่อนของ  Importer(อีกครั้ง)ว่าจะสามารถรับไม้ต่อพลิกบทบาทพลางสร้างผลงานได้เฉิดฉายและไฉไลมากน้อยแค่ไหน?หรือสร้างความแตกต่างอย่างไรบ้างในแง่การบริหารจัดการในองค์รวม? และโจทย์ที่ท้าทายคือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าจะพลิกโฉมไปในทิศทางใด?รุ่งหรือร่วง(กว่าเดิม)ต้องจับตา!

บทสรุปผลงานค่ายพญาราชสีห์ MAN ภายใต้ชายคาหลังใหญ่บริษัทแม่ดึงมาทำเองกับมือยังถือว่าทำผลงานได้ดีระดับหนึ่งภายใต้ข้อจำกัดในบริบทความพร้อมอันเป็นกระสุนดินดำในมือกับห้วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2563 มียอดจดทะเบียนรถบรรทุกทั้งสิ้น 53 คัน พร้อมไต่ระดับสูงขึ้นมาในปี 2564 ที่ 91 คันอันเป็นยอดขายที่ถูกเคลมว่าสูงสุดในรอบ9ปี และปิดท้ายกับปีสุดท้าย2565ที่ 63 คันปรับตัวลดลง 30%เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนหน้าที่ทำได้ดีถึง 91 คัน รั้งอันดับ 3 บนเวทีรถใหญ่ยุโรป

บทพิสูจน์ความสำเร็จในแง่ยอดขาย-ยอดจดทะเบียนหนุนให้ทุกค่ายไต่ระดับแรงกิ้งบนเวทีการแข่งขันในแต่ละปี ล้วนเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นที่ลูกค้ามีต่อผลิตภัณฑที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและตอบโจทย์การใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ(สมรรถนะเครื่องยนต์,ทนทาน,ประหยัดเชื้อเพลิง) ตลอดถึงการบริการหลังการขายที่ประทับใจ งานซ่อมบำรุงที่รวดเร็ว ตลอดถึงศูนย์บริการที่ครอบคลุม

ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่แต่ละค่ายให้ความสำคัญหวังสร้างความแตกต่าง-เหนือระดับเป็นทางเลือกดีที่สุดให้เกิดผลกำไรในทุกความคุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์ที่ลูกค้าลงทุนไป!

ถึงกระนั้น บนเวทีการแข่งขันรถใหญ่ยุโรปในปี 2566 นี้ยังเป็นปีท้าทายสำหรับทุกค่าย ทว่า ท้ายที่สุดแล้วค่ายสแกนเนียจะสามารถโชว์ศักยภาพและรักษาบัลลังก์เจ้าตลาดไว้ได้อย่างต่อเนื่องอีกปีหรือไม่?หรือจะถูกโค่นบัลลังก์ด้วยน้ำมือคู่รักคู่แค้นคนบ้านเดียวกันอย่างวอลโว่ ทรัคส์?หรือทิศทางเดินค่ายเจ้าป่าราชสีห์ MANในกำมือ Importer จะสามารถคำรามก้องเวทีการแข่งขันได้เพียงใด?

…กาลเวลา-ยอดขายเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์!

:ปีศาจขนส่ง